อัณฑะอักเสบ เป็นการอักเสบของอัณฑะที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่แพร่กระจายผ่านทางเลือดหรืออาจติดเชื้อจากท่อนำอสุจิ ที่เรียกว่า การติดเชื้อร่วมกันของหลอดเก็บตัวอสุจิและลูกอัณฑะ (Epididymo-Orchitis) โดยอัณฑะทั้ง 2 ฝั่งอาจเกิดอาการอัณฑะอักเสบได้ แต่อาการมักปรากฏกับอัณฑะเพียงอันเดียว
[embed-health-tool-bmr]
อัณฑะอักเสบ คืออะไร
อัณฑะอักเสบ (Orchitis) คือ การอักเสบของอัณฑะที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่แพร่กระจายผ่านทางเลือดหรืออาจติดเชื้อจากท่อนำอสุจิ ที่เรียกว่า การติดเชื้อร่วมกันของหลอดเก็บตัวอสุจิและลูกอัณฑะ (Epididymo-Orchitis) โดยอัณฑะทั้ง 2 ฝั่งอาจเกิดอาการอัณฑะอักเสบได้ แต่อาการมักปรากฏกับอัณฑะเพียงอันเดียว และการอักเสบของอัณฑะมักเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสคางทูมได้เช่นกัน
สาเหตุของภาวะอัณฑะอักเสบ
ภาวะอัณฑะอักเสบ (Orchitis) อาจเกิดจากพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยง หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น
- เปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- โรคหนองใน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- อายุมากกว่า 45 ปี
- การใช้สายสวนปัสสาวะในระยะยาว
- ไม่ได้รับการฉีดวักซีนป้องกันคางทูม
- ปัญหาทางเดินปัสสาวะที่เป็นตั้งแต่เกิด
- การผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ
- ต่อมลูกหมากโต
- ท่อปัสสาวะตีบ
อาการของอัณฑะอักเสบ
อัณฑะอักเสบอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณอัณฑะหนึ่งหรือสองข้างอย่างกะทันหันและรุนแรง โดยอาการปวดนี้อาจลามไปบริเวณขาหนีบ และอาจมีอาการอื่น ๆ เหล่านี้ร่วมด้วย
- ลูกอัณฑะบวม มีสีแดงหรือม่วง
- รู้สึกหนักในอัณฑะ
- มีเลือดในน้ำอสุจิ
- เป็นไข้สูง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
- ปวดจากการรัดและการเคลื่อนไหวของลำไส้
- ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวม
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้บ่อย เมื่ออัณฑะอักเสบ อาจมีดังนี้
- อัณฑะฝ่อ โรคอัณฑะอักเสบอาจส่งผลให้ลูกอัณฑะหดตัวลงในที่สุด
- อัณฑะเป็นฝี เนื่องจากเนื้อเยื่อติดเชื้อ
- ภาวะมีบุตรยาก ลูกอัณฑะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออัณฑะอักเสบ จึงส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
วิธีการรักษาภาวะนี้
ภาวะอัณฑะอักเสบสามารถหายไปเองได้ โดยคุณสามารถจัดการกับภาวะนี้ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาแก้ปวด หรือยาปฏิชีวนะ หากการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย
- การประคบน้ำแข็งและยกอัณฑะให้สูงขึ้น แล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
- งดมีเพศสัมพันธ์และยกของหนัก ขณะที่กำลังทำการรักษา
- เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน หรือป่วยหนัก เพราะอาจต้องรับยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำโดยตรง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคู่นอนไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เข้าพบหมออีกครั้งเพื่อติดตามอาการ และเพื่อให้แน่ใจว่าหายจากโรคอัณฑะอักเสบแล้ว
หากคุณเกิดอาการปวดบริเวณอัณฑะ หรือมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น ควรระวังไว้ก่อนว่าอัณฑะอาจอักเสบ และควรพบคุณหมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นที่อาจส่งผลร้ายแรง