ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน มีบทบาทสำคัญหลายอย่างในร่างกายของผู้ชาย เช่น ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศของผู้ชาย การแข็งตัวของอวัยวะเพศ การสร้างอสุจิ อย่างไรก็ตาม ผู้ชายหลายคนอาจส่งสัยว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เนื่องจาก หากระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนต่ำอาจส่งผลให้การสร้างอสุจิลดลง มวลกล้ามเนื้อลดลง แรงขับทางเพศลดลง ขนาดหน้าอกใหญ่ขึ้น รวมถึงยังอาจส่งผลให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจมีดังนี้
วิตามินและแร่ธาตุ
วิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น สังกะสี วิตามินดี วิตามินซี อาจมีบทบาทสำคัญต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยงานวิจัยบางชิ้น พบว่า การเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของวิตามินดีในร่างกายสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น
ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้น พบว่า ระดับวิตามินซีที่เพียงพอในแต่ละวันสามารถเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรนได้ นอกจากนี้ วิตามินซีและวิตามินอี สามารถทำให้คุณภาพอสุจิ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเทสโทสเตอโรนดีขึ้น นอกจากนี้ สังกะสีก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเช่นกัน เนื่องจากหากร่างกายขาดสังกะสี ระดับเทสโทสเตอโรนก็จะลดต่ำลง และการได้รับอาหารเสริมสังกะสีก็สามารถทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนกลับคืนสู่ปกติ อย่างไรก็ตาม การกินอาหารเสริมสังกะสีมากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้ การกินอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น หอยนางรม จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวิตามินซีในการเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
การกินเนื้อสัตว์
การบริโภคเนื้อสัตว์อาจช่วยส่งเสริมให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ เนื้อสัตว์ยังอุดมไปด้วยสังกะสี กรดอะมิโนคาร์นิทีน ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำได้ แต่เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับไขมันที่มากเกินไปควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง
การยกน้ำหนัก
ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว หลังจากการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งใช้น้ำหนักมากแค่ไหนก็ยิ่งดี แต่ก็ควรหยุดพักระหว่างการยกน้ำหนักแต่ละเซ็ตประมาณ 90 วินาที เนื่องจากอาจมีผลในการส่งเสริมระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายมากที่สุด
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
แม้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิง แต่ผู้ชายก็มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณเล็กน้อย เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงก็มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในปริมาณเล็กน้อยเช่นกัน ในกรณีที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลง นอกจากนี้ การที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลงก็อาจเกิดมาจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น การทำงานของตับที่มีปัญหา ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
ความเครียด
เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ไม่ว่าจะจากสภาพจิตใจ การออกกำลังกายหนักเกินไปหรือนานเกินไป รวมถึงการนอนไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลง ดังนั้น การดูแลตัวเองไม่ให้อยู่ในภาวะเครียดเรื้อรังอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในระดับปกติ