backup og meta

เพศหลากหลายกับเชื้อไวรัส HPV ติดง่ายแค่ไหน?

เพศหลากหลายกับเชื้อไวรัส HPV ติดง่ายแค่ไหน?

HPV คือ Human Papilloma Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่และเกิดมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปากและลำคอได้

เพศสัมพันธ์…ไม่ว่าจะเป็นเพศใดกับเพศใด หรือกับช่องทางใด ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนแต่ใดๆ แต่หากไม่ป้องกัน ก็อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้ง HPV ด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเชื้อไวรัส HPV นั้น ถึงแม้จะสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ก็ยังสามารถติดต่อจากการเสียดสีภายนอกได้อีกด้วย รวมถึงการทำออรัลเซ็กส์ ก็สามารถติดต่อเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ซึ่งจากการวิจัยพบว่า “ทุกเพศ” มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ทั้งสิ้น 

จากรายงานการวิจัยพบว่า 8 ใน 10 ของบุคคลทั่วไปได้รับเชื้อไวรัส HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งหากมาเจาะลึกกันเรื่องเพศวิถี พบว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย (MSM) พบการติดเชื้อไวรัส HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง(MSW) 2-5 เท่า

การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบ อาจไม่แสดงอาการใดๆ กว่า 10 ปี ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อลุกลามแล้ว ทำให้ไม่รู้ว่าได้รับเชื้อมา และอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อ HPV ไปได้ แต่มีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดได้ เชื้อ HPV จะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือ มะเร็งต่างๆ ได้ในอนาคตเช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ

การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คือ การสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดและทางทวารหนัก การสวมถุงยางอนามัยเมื่อทำออรัลเซ็กส์กับองคชาต และการใช้แผ่น dental dam เมื่อทำออรัลเซ็กส์กับอวัยวะเพศหญิงและทวารหนัก และควรมีการป้องกันแบบปฐมภูมิด้วยการฉีดวัคซีน HPV 

โรคมะเร็งทวารหนักเป็นอย่างไร?

มีติ่งหรือก้อนที่ทวารหนัก บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เจ็บก้น อาการคันผิดปกติบริเวณทวารหนัก มีเลือดออกมีก้อนเนื้อขนาดเล็ก การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองโต ขาหนีบบวมได้ ซึ่งอาการใกล้เคียงกับริดสีดวง

โรคมะเร็งช่องปากและลำคอเป็นอย่างไร?

มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่อวัยวะในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก เหงือก ลิ้นไก่ กระพุ้งแก้ม เพดานปากทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร ส่วนบนของลำคอ อวัยวะที่พบว่าเป็นมะเร็งได้บ่อย คือ ลิ้น และพื้นปากใต้ลิ้น ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า คอหอยส่วนบนหลังช่องปาก ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนบนหลังช่องปาก (HPV-related Oropharyngeal Cancer) ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก และมักพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง สำหรับในประเทศไทยและประเทศในเอเชียแม้อุบัติการณ์น้อยกว่าประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา แต่จากการศึกษาแบบ Meta-Analysis ที่เก็บข้อมูลจากหลายประเทศในเอเชีย พบความชุกที่ประมาณ 37% และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน 

เพศหลากหลายฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม?

  • ใน Transmen หรือ ผู้ชายข้ามเพศ บางคนที่ใช้ฮอร์โมนแต่ยังไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออกไป จะยังมีมดลูกอยู่ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้โดยเฉพาะที่ปากมดลูก และมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งพบได้ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่หรือแบบไม่สอดใส่แต่บางครั้งอาจจะมีการใช้นิ้วหรือเซ็กส์ทอยก็สามารถนำพาซึ่งการถ่ายทอดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน
  • ใน Transwomen หรือผู้หญิงข้ามเพศ สามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นกันและก็เป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนักได้ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก สำหรับ Transwomen ที่ผ่าตัดเปลี่ยนเพศและมีช่องคลอดใหม่แล้ว พบว่า HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เช่นกัน ดังนั้น Transwomen ที่ผ่าตัดเปลี่ยนเพศแล้วควรตรวจภายในทุกปี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลพบว่าใน Transwomen มีการติดเชื้อ HPV ที่ทวารหนักได้สูงถึง 88.6% จึงควรฉีดวัคซีน HPV และคัดกรองมะเร็งทวารหนักประจำปีด้วย
  • ใน MSM หรือ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบว่ามีการกำจัดเชื้อไวรัส HPV ที่บริเวณทวารหนักได้ต่ำกว่าในกลุ่มMSW ทำให้มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งทวารหนักได้สูงกว่ากลุ่ม MSW สูงถึง 20 เท่า ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีน HPV และคัดกรองมะเร็งทวารหนักประจำปี 
  • ใน WSW หรือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ก็พบว่ามีโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นกัน เพราะอาจจะมีการใช้นิ้วหรือเซ็กส์ทอยเข้าทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักของอีกฝ่ายหนึ่ง

บทสรุปของการป้องกัน….

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ทางการสอดใส่ทางช่องคลอดและการสอดใส่ทางทวารหนัก
  • สวมถุงยางอนามัยเมื่อทำออรัลเซ็กส์กับองคชาต
  • ใช้แผ่น dental dam เมื่อทำออรัลเซ็กส์กับอวัยวะเพศหญิงและทวารหนัก
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก อย่างสม่ำเสมอ
  • ฉีดวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งทุกช่องทางและไม่ว่าจะมีเพศวิถีแบบไหน โดยแนะนำฉีดในกลุ่ม 9-26 ปี และอาจพิจารณาฉีดได้ในผู้ที่อายุมากว่า 27 ปีขึ้นไป ถ้ายังมีเพศสัมพันธ์อยู่
ทุกคนสามารถติดเชื้อ HPV ได้ไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีน HPV เพื่อให้มีภูมิต้านทานป้องกันมะเร็งต่าง ๆ จากเชื้อไวรัส HPV ที่อาจจะเกิดขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

TH-GSL-00295 06/2023

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/08/2023

เขียนโดย รศ. ดร. นพ.อติวุทธ กมุทมาศ

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน HPV ในสตรีวัยทำงาน ที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องรู้!

FAQ: คําถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV


เขียนโดย

รศ. ดร. นพ.อติวุทธ กมุทมาศ

กุมารเวช · คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แก้ไขล่าสุด 25/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา