เลสเบี้ยน เป็นกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ) ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิง ผู้ที่เป็นเลสเบี้ยนอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือร้ายแรงกว่าได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจพบได้ในเลสเบี้ยน ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ อาจช่วยให้รู้เท่าทันโรคและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าวได้
[embed-health-tool-ovulation]
เลสเบี้ยน กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง
เลสเบี้ยนอาจเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เลสเบี้ยนอาจเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านการสัมผัสผิวหนัง การสัมผัสเยื่อเมือกหรือของเหลวในช่องคลอด และเลือดประจำเดือน การใช้เซ็กส์ทอยหรืออุปกรณ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศร่วมกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้หญิง เช่น
- การติดเชื้อเอชพีวี หรือเชื้อฮิวแมน ปาปิลโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ทางปาก หรือทางช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสของเหลวที่มีไวรัส หากติดเชื้อเอชพีวี อาจมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักลด อีกทั้งการติดเชื้อเอชพีวียังอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จนเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก
- โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เป็นโรคติดเชื้อปรสิต อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ความอับชื้น ส่งผลให้มีอาการ เช่น คันอวัยวะเพศ ปวดท้องน้อย ตกขาวเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีเทาเป็นฟอง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือถ่ายปัสสาวะ
- โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เกิดจากแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล พบมากในผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาการของโรคที่สังเกตได้ เช่น ตกขาวผิดปกติ คันช่องคลอด รู้สึกระคายเคืองในช่องคลอด แต่บางครั้งก็อาจไม่แสดงอาการใด ๆ หากเป็นโรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรียแล้วไม่รีบการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหนองใน โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
- เริม เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส ไวรัสก่อโรคเริมมีอยู่ 2 ชนิด คือ HSV-1 และ HSV-2 ซึ่งทำให้เกิดแผลที่ปากหรือที่อวัยวะเพศ โรคเริมมักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อ อาจส่งผลให้มีอาการคัน มีแผลพุพองที่ปากหรืออวัยวะเพศ โรคเริมไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการและหยุดการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่นได้
- ซิฟิลิส โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีผื่นแดง มีไข้ อ่อนเพลีย มีแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศ ผิวหนังเติบโตคล้ายหูด มีฝ้าขาวในปาก หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลเสียสุขภาพหัวใจและระบบประสาทได้
ปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด
การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ที่เป็นเลสเบี้ยนด้วย พฤติกรรมดังกล่าวอาจเกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลเพราะแรงกดดันทางสังคม การถูกกดขี่ ค่านิยมที่ไม่ยอมรับเพศทางเลือก เลสเบี้ยนบางคนจึงอาจเลือกระบายความเครียดด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
การดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง (เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำคอ โรคมะเร็งลำไส้เล็ก โรคมะเร็งปากมดลูก) ทำให้มีภาวะสุราเป็นพิษเนื่องจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ทั้งยังอาจทำให้มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การมีเซ็กส์โดยไม่ป้องกัน การมีคู่นอนหลายคน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ส่วนการใช้สารเสพติดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เสี่ยงมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม มีปัญหาในการนอนหลับ เสี่ยงติดเชื้อหากใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และหากใช้สารเสพติดในระยะยาว ก็อาจทำให้อวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น คอ กระเพาะอาหาร ปอด ตับ ตับอ่อน หัวใจ สมอง ระบบประสาท เสียหายถาวรได้
โรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง โดยโรคอ้วน ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง ความเครียด และการสูบบุหรี่ อาจเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ โรคหัวใจยังอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทางร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุ กรรมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การป้องกันปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคอ้วน
โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยเกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นเพศทางเลือกในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนและไบเซ็กชวลมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม
โรคกระดูกพรุน
ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือน เช่น การหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง อาจส่งผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอและสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว จนเสี่ยงเกิดภาวะกระดูกแตกหัก หรือเป็นโรคกระดูกพรุนได้
โรคมะเร็ง
ปัญหาสุขภาพและข้อจำกัดบางประการ เช่น โอกาสในการตั้งครรภ์ที่น้อยกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม อาจทำให้เลสเบี้ยนเสี่ยงเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ได้มากกว่า เนื่องจากฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาในระหว่างครรภ์และระหว่างให้นมลูก อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าวได้ นอกจากนี้ เลสเบี้ยนอาจนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคอ้วน และมีปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
เลสเบี้ยนในวัยเจริญพันธ์ุ อายุ 20-40 ปี อาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาถุงน้ำรังไข่หลายใบสูง ภาวะนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของฮอร์โมน อาจส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือน เช่น ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายผู้ชาย เช่น มีหนวด มีขนขึ้นในบริเวณเดียวกับผู้ชาย เสียงเปลี่ยน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง และอาจมีซีสต์ในรังไข่จำนวนมากได้ด้วย
อาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล
เลสเบี้ยนเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้มากกว่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความรู้สึกแปลกแยกทางสังคม การถูกเลือกปฏิบัติ การถูกคนที่รักปฏิเสธ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกใช้ความรุนแรง เลสเบี้ยนอาจต้องปกปิดรสนิยมของตัวเองไว้ไม่ให้คนอื่น ๆ เช่น เพื่อน ครอบครัว นายจ้าง รับรู้ จนอาจทำให้เครียด กดดัน และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้
ปัญหาสุขภาพจากการใช้ความรุนแรง
เลสเบี้ยนอาจประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงจากคู่รัก ครอบครัว หรือคนอื่น ๆ ในสังคม โดยอาจเริ่มจากการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจจนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย บางคนอาจเคยถูกข่มขืน ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกคนรักสะกดรอยตาม เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์รุนแรงที่เคยเผชิญ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย เช่น ทำให้มีอาการบาดเจ็บ เสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Western Journal of Medicine เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2543 ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ พบว่า เยาวชนเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ เคยถูกเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง จนอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การใช้สารเสพติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การฆ่าตัวตาย
วิธีป้องกันปัญหาสุขภาพของ เลสเบี้ยน
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพของเลสเบี้ยนได้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ขณะทำกิจกรรมทางเพศหรือมีเพศสัมพันธ์ หากเป็นไปได้ ควรสวมถุงยางอนามัยนิ้วหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากใช้เซ็กส์ทอย ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน และควรล้างเซ็กส์ทอยให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หลังใช้งานทุกครั้ง และที่สำคัญ ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายเชื้อโรค
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ คู่รักหรือคู่นอนควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมทางเพศ และควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในกรณีที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากบางโรคอาจไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้อ นอกจากนี้ หากตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอด้วย
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียวอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอาจทำให้มึนเมา ขาดสติ จนอาจพลาดมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและเสี่ยงติดเชื้อ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน และโรคมะเร็งได้ด้วย
- ฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี เชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ตรวจมดลูก ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ชอบเพศตรงข้ามหรือเพศทางเลือกควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) เป็นประจำ โดยเริ่มตรวจครั้งแรกเมื่ออายุไม่เกิน 21 ปี หรือภายใน 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของมดลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง เลสเบี้ยนอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งแต่ละชนิดเป็นประจำ หากตรวจพบ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี จัดการความเครียดให้ได้ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสุขภาพจิต หากถูกกดดัน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือประสบปัญหาที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล ควรเข้าพบคุณหมอหรือนักบำบัดทันที เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจตามมา รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ด้วย