ฝีที่ก้น (Anorectal Abscess) เป็นฝีบริเวณแก้มก้นหรือรอบรูทวารที่เกิดจากการติดเชื้อจนส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นหนอง รู้สึกเจ็บปวด และมีไข้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณทวารหนักรุนแรง โดยเฉพาะเวลาขับถ่ายหรือนั่ง และจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาฝีที่ก้น ดังนั้น หากสังเกตพบอาการของฝีที่ก้น ที่อาการปวดเรื้อรังบริเวณก้น อาการท้องผูก มีตุ่มนูนบริเวณทวารหนัก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดฝีที่ก้น
ฝีที่ก้นเกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดตุ่มหนองใต้ผิวหนังบริเวณแก้มก้นหรือรอบรูทวาร โดยปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดฝีที่ก้นได้
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคเบาหวาน
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV)
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone)
- ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- ภาวะท้องผูก
- โรคท้องร่วง
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
นอกจากนี้ เด็กในวัยหัดเดินที่กล้ามเนื้อหูรูดฉีกขาดและมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ก็อาจเสี่ยงเกิดฝีที่ก้นได้เช่นกัน
อาการของฝีที่ก้น
อาการของฝีที่ก้น อาจมีดังนี้
- เจ็บหรือปวดก้น โดยเฉพาะเวลานั่งหรือขับถ่าย
- ท้องผูก
- มีเลือดปนในอุจจาระ
- บริเวณรอบรูทวารหนักบวมแดง
- รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย
- หนาวสั่น มีไข้
- ปัสสาวะลำบาก
วิธีรักษาฝีที่ก้น
ฝีที่ก้นต้องได้รับการรักษาเท่านั้นถึงจะหาย โดยวิธีรักษาฝีที่ก้นที่นิยมใช้มี 2 รูปแบบ ได้แก่
- กรีดระบายหนองออก คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณที่ติดเชื้อเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ก่อนจะใช้มีดผ่าตัดกรีดฝีเพื่อระบายหนองออก
- การผ่าตัด หากฝีก้อนใหญ่มาก คุณหมอจะผ่าตัดเอาหนองออก แล้วเปิดแผลทิ้งไว้ ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ผิวหนังจะสมานกันเอง ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูว่ามีอาการติดเชื้อหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ และผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังผ่าตัดรักษาฝีที่ก้น คุณหมออาจแนะนำให้อาบน้ำอุ่นหรือนั่งแช่ในน้ำอุ่น เพื่อลดอาการบวม