backup og meta

ไข้ทับระดูเป็นกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไรให้หายไวๆ

ไข้ทับระดูเป็นกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไรให้หายไวๆ

ไข้ทับระดู เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในช่วงก่อนเป็นประจำเดือนและขณะเป็นประจำเดือน ซึ่งมักมีคำถามว่า ไข้ทับระดูเป็นกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไร โดยทั่วไป เมื่อเป็นแล้วอาการต่าง ๆ จะหายไปภายใน 1-5 วัน และควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ดื่มน้ำให้มาก ๆ กินยาแก้ปวดหรือลดไข้ อาจช่วยให้อาการดีขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

ไข้ทับระดูเกิดจากอะไร

ไข้ทับระดูเป็นอาการเจ็บป่วยจากการเป็นประจำเดือน โดยมดลูกจะผลิตโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติเหมือนฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวเพื่อขับเยื่อบุมดลูกให้สลายไปเป็นเลือดประจำเดือน โพรสตาแกลนดินที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามตัว ร้อนวูบวาบ ทั้งยังทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป 

นอกจากนี้ ความแปรปรวนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ก่อนมีประจำเดือนยังอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าปกติ

อาการไข้ทับระดู

อาการของไข้ทับระดูมีระดับความรุนแรงและลักษณะของอาการที่แตกต่างไปในแต่ละคน อาจมีดังนี้

  • มีไข้ต่ำ ๆ 
  • หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • ท้องผูก
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดท้อง

ไข้ทับระดูเป็นกี่วัน

ผู้หญิงอาจเป็นไข้ทับระดูประมาณ 1-5 วันและหายไปเองเมื่อประจำเดือนหมดในรอบนั้น โดยระดับความรุนแรงจะแตกต่างไปในแต่ละคน นอกจากนี้ อาการคล้ายไข้หวัดและความไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อาจคล้ายคลึงหรือทับซ้อนกับอาการกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายที่ทำให้เหนื่อยง่าย ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวนได้  โดยปกติ อาการไม่สบายจะเกิดในช่วงก่อนที่ประจำเดือนมาไม่กี่วัน หรือในบางรายอาจมีอาการประมาณ 10-16 วันก่อนวันประจำเดือนมาวันแรก ขึ้นอยู่กับรอบเดือนของแต่ละคน 

ทั้งนี้ หากเป็นไข้ทับระดูที่เกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้มีไข้ ปวดท้อง ปวดอุ้งเชิงกรานรุนแรง มีตกขาวผิดปกติ ก็อาจทำให้ไม่สบายนานกว่าการเป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเป็นไข้ทับระดู อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • กินยาบรรเทาปวด เช่น ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเรียกว่ายาเอ็นเสด (NSAIDs-Non-steroidal antiinflammatory drugs) อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจช่วยควบคุมปริมาณโพรสตาแกลนดินและช่วยบรรเทาอาการไข้ทับระดูได้
  • ดื่มน้ำเปล่ามากๆ หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้ใช้เวลาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว เพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไป 
  • แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 4-5 มื้อแทนการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความรุนแรงของอาการไข้ทับระดูและอาการก่อนเป็นประจำเดือนได้
  • สวมเสื้อผ้าเนื้อบางเบาและระบายอากาศได้ดีเพื่อจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
  • พยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Period Flu?. https://www.webmd.com/women/pms/period-flu. Accessed June 6, 2023

Fever: First aid. https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-fever/basics/art-20056685. Accessed June 6, 2023

Fever. https://medlineplus.gov/fever.html. Accessed June 6, 2023

Fever. https://www.healthdirect.gov.au/fever. Accessed June 6, 2023

Premenstrual syndrome – self-care. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000556.htm. Accessed June 6, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้หญิง เป็น เมนส์ และการดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ

ไข้ทับระดู อาการป่วยเมื่อเป็นประจำเดือนที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา