ขี้กลากขึ้นหัว คือ การติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงวัยเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังศีรษะได้โดยตรงส่งผลให้มีอาการคัน ศีรษะเป็นสะเก็ด ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพหนังศีรษะควรเข้ารับการรักษาขี้กลากขึ้นหัวและควรศึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
[embed-health-tool-heart-rate]
ขี้กลากขึ้นหัว คืออะไร
ขี้กลากขึ้นหัว หรือที่เรียกว่า “ชันนะตุ” คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส ซึ่งอาจติดเชื้อได้ตั้งแต่รากผม เส้นผม และหนังศีรษะส่งผลให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะลอกลักษณะคล้ายรังแค ผมร่วงเป็นหย่อมและศีรษะล้านบริเวณที่เป็นขี้กลาก
สาเหตุที่ทำให้ขี้กลากขึ้นหัว
สาเหตุที่ทำให้ขี้กลากขึ้นหัวเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ เมื่อมีการเจริญเติบโตมากเกินไปบนผิวหนังชั้นนอกของหนังศีรษะและเส้นผม จึงทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น อีกทั้งยังอาจได้รับเชื้อรามาจากบุคคลที่เป็นขี้กลากขึ้นหัวผ่านการสัมผัสกับหนังศีรษะโดยตรงหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนูเช็ดผม หวี หมอน ผ้าห่ม ยางมัดผม กิ๊ฟติดผมนอกจากนี้การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หมู วัว ม้า ที่มีเชื้อราบนผิวหนัง โดยไม่ทำความสะอาดหลังสัมผัส เมื่อนำมาจับศีรษะก็อาจส่งผลให้ติดเชื้อจากสัตว์และเป็นขี้กลากได้เช่นกัน
อาการของขี้กลากขึ้นหัว
อาการของขี้กลากขึ้นหัว มีดังนี้
- ผื่นแดงบนหนังศีรษะ หรือเป็นตุ่มคล้ายสิวที่อาจเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อติดเชื้อราประมาณ 4-10 วัน
- ผื่นแดงพัฒนาเป็นรอยกลากและเป็นสะเก็ดเป็นวงแหวนขอบนูนบริเวณหนังศีรษะ
- ส้นผมเปราะบางและผมร่วงเป็นหย่อม เส้นผมขาดง่าย
- อาจรู้สึกคันและเจ็บปวดหนังศีรษะ
หากสังเกตว่าผมร่วงเยอะมากจนเห็นหนังศีรษะ และมีอาการคันรุนแรง ร่วมกับมีผื่นแดงคันเป็นวงขุย ๆ หรือมีตุ่มหนอง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผมร่วงถาวร
วิธีรักษาขี้กลากขึ้นหัว
วิธีรักษาขี้กลากขึ้นหัว ควรใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทานตามใบสั่งของคุณหมอ เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่ควรรับประทานตามระยะเวลาที่คุณหมอกำหนดร่วมกับเข้ารับการตรวจอาการ เพื่อเช็กว่ามีอาการดีขึ้นหรือร่างกายตอบสนองกับยารักษาได้ดีหรือไม่ นอกจากนี้คุณหมออาจแนะนำให้ใช้แชมพูสระผมต้านเชื้อราร่วมด้วยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ช่วยขจัดเชื้อราและช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อราไปยังผู้อื่น
การป้องกันขี้กลากขึ้นหัว
การป้องกันขี้กลากขึ้นหัว อาจทำได้ดังนี้
- สระผมให้สะอาดและเช็ดให้แห้งสนิท เพื่อลดการอับชื้นที่อาจกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไปจนนำไปสู่การติดเชื้อบนหนังศีรษะ
- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือจับวัตถุที่ใช้ส่วนรวม เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย ราวจับบันได เพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อราและนำมาสัมผัสกับหนังศีรษะจนก่อให้เกิดการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อราไปยังบุคคลอื่น ๆ และป้องกันการติดเชื้อราที่ทำให้เป็นขี้กลากขึ้นหัวซ้ำ ๆ
- ทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้กับหนังศีรษะบ่อยครั้ง เช่น ล้างหวี ซักอุปกรณ์เครื่องนอน ซักผ้าขนหนูเช็ดหัว
- อาบน้ำตัดแต่งขนให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำและควรพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ หากมีเชื้อรา ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์