backup og meta

วิธีสระผมที่ถูกต้อง เพื่อผมแข็งแรงสุขภาพดี ทำอย่างไร

วิธีสระผมที่ถูกต้อง เพื่อผมแข็งแรงสุขภาพดี ทำอย่างไร

วิธีสระผมที่ถูกต้อง เริ่มต้นจากการล้างเส้นผมด้วยน้ำสะอาด จากนั้นชโลมแชมพูลงบนศีรษะและตามเส้นผม ใช้ปลายนิ้วมือนวดหนังศีรษะและเส้นผมอย่างเบามือ ก่อนล้างแชมพูออกด้วยน้ำเปล่าจนหมดฟอง หรือชโลมครีมนวดหรือครีมหมักผมแล้วล้างออก หลังจากนั้น เป่าหรือเช็ดผมจนแห้งสนิท ทั้งนี้ หากดูแลเส้นผมและหนังศีรษะผิดวิธีอาจก่อให้เกิดปัญหาติดเชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นรังแค หรือผมหลุดร่วงได้

[embed-health-tool-bmi]

ทำไมต้องสระผม

การสระผม เป็นวิธีรักษาความสะอาดและสุขภาพของเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกอย่างฝุ่นละออง น้ำมัน หรือเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น โรคกลาก โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอักเสบ

นอกจากนั้น หากเป็นรังแคหรือติดเชื้อบริเวณหนังศีรษะ การสระผมด้วยแชมพูยาอาจช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้

วิธีสระผมที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร

วิธีสระผมที่ถูกต้อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ล้างเส้นผมด้วยน้ำสะอาด พร้อมกับใช้นิ้วมือสางไปตามเส้นผม เพื่อช่วยให้ผมทุกเส้นชุ่มน้ำ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 นาที หรืออาจนานกว่าหากมีผมยาว
  2. ชโลมแชมพูลงบนศีรษะ โดยปริมาณแชมพูที่ใช้ควรเหมาะกับความยาวและความหนาของเส้นผม เช่น หากผมสั้น ปริมาณแชมพูที่เทใส่ฝ่ามือควรมีขนาดเท่า ๆ กับเหรียญสิบบาท หากผมยาว ควรใช้แชมพูปริมาณเกือบ ๆ เต็มฝ่ามือ
  3. สระผม หลีกเลี่ยงการเกาแรง ๆ เพราะอาจทำให้หนังศีรษะระคายเคืองหรือรูขุมขนเป็นแผล อาจใช้ปลายนิ้วค่อย ๆ นวดหนังศีรษะให้เกิดฟองจนทั่ว
  4. ใช้น้ำเปล่าล้างแชมพูออกให้เกลี้ยง โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที เพื่อล้างแชมพูออกไม่ให้เหลือตกค้างบนเส้นผมหรือหนังศีรษะ หากล้างออกไม่หมดอาจเป็นสาเหตุของรังแคได้
  5. ใช้ครีมนวดผมหรือครีมหมักผม โดยชโลมจากตอนกลางของเส้นผมไปจนถึงปลายผม และทิ้งไว้ประมาณ 2-7 นาที ก่อนล้างออกจนเกลี้ยง อย่างไรก็ตาม หากผมมันอาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผมเพราะอาจยิ่งเพิ่มความมันให้เส้นผมหรือหนังศีรษะ
  6. เป่าและเช็ดผมให้แห้งสนิท เพราะหากผมไม่แห้งสนิท อาจก่อให้เกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือเกิดปัญหาผิวหนังบริเวณศีรษะได้ นอกจากนี้ ผ้าที่ใช้เช็ดผมไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเหาหรือเชื้อโรคจากอีกฝ่าย

คำแนะนำในการสระผม

หากต้องการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะให้แข็งแรงสุขภาพดี อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากสระผมทุกวัน อาจทำให้เส้นผมสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติ และทำให้ผมแห้งหรือเสียหายในระยะยาวได้ อาจล้างผมโดยไม่ใช้ยาสระผม อย่างไรก็ตาม หากเหงื่อออกมากหรือเผชิญแสงแดดที่ทำให้เกิดคราบเหงื่อไคลควรสระผมทุกวันแต่อาจเลือกแชมพูที่อ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ
  • ในการเลือกซื้อแชมพู ควรหลีกเลี่ยงแชมพูที่ผสมซัลเฟต (Sulfate) พาราเบน (Paraben) พทาเลต (Pthalate) หรือไดเมธิโคน (Dimethicone) เพราะมักก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอาการแพ้ได้ ควรเลือกซื้อแชมพูที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น คาโมมายล์ (Chamomile) น้ำมันมะพร้าว น้ำมันเจอราเนียม (Geranium) น้ำมันโจโจ้บา (Jojoba)
  • เลือกใช้แชมพูที่เหมาะสมกับสภาพของเส้นผม เช่น หากผมมัน ควรใช้ยาสระผมที่ผสมสารซึ่งมีฤทธิ์ทำความสะอาดสูง อย่างโซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) หรือซัลโฟซักซิเนต (Sulfosuccinate) เพราะออกฤทธิ์ช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินบนหนังศีรษะได้ดี
  • หากอาบน้ำอุ่น ผู้ที่มีผมแห้งควรล้างเส้นผมหลังสระหรือใช้ครีมนวดผมด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพื่อป้องกันความร้อนทำลายน้ำมันที่เคลือบเส้นผม และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของเส้นผมเอาไว้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Choose the Best Shampoo. https://www.webmd.com/beauty/features/choose-right-shampoo. Accessed October 27, 2022

What to Know About Shampoo Ingredients. https://www.webmd.com/beauty/what-to-know-about-shampoo-ingredients. Accessed October 27, 2022

TIPS FOR HEALTHY HAIR. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/hair/healthy-hair-tips. Accessed October 27, 2022

BLACK HAIR: TIPS FOR EVERYDAY CARE. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/hair/care-african-american. Accessed April 16, 2022

EVERYDAY HAIR CARE. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/hair. Accessed April 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ถอนผมหงอก ดีหรือไม่ ควรดูแลเส้นผมอย่างไรเมื่อเริ่มมีผมหงอก

ยาสระผม ควรเลือกอย่างไร ให้เหมาะกับสภาพของเส้นผม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา