backup og meta

Botox มีประโยชน์อย่างไร ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือไม่

Botox มีประโยชน์อย่างไร ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือไม่

Botox หรือโบท็อก เป็นการฉีดสารเคมีชนิดหนึ่งเข้าสู่ใบหน้า เพื่อยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง และร่องริ้วรอยต่าง ๆ ตื้นขึ้น การฉีดโบท็อก 1 ครั้งมักใช้เวลาประมาณ 10 นาที และให้ผลลัพธ์คงอยู่ประมาณ 3-6 เดือน ควรฉีดซ้ำเพื่อให้ผลคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก่อนฉีดโบท็อก ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลหรือประวัติของคุณหมออย่างละเอียด เพราะการฉีดโบท็อกกับผู้ที่ขาดประสบการณ์และไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น คิ้วตก หนังตาตก ใบหน้าแข็ง กลืนหรือหายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติ

[embed-health-tool-bmi]

Botox คืออะไร

โบท็อก เป็นการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินเอ (Botulinumtoxin A) ซึ่งสกัดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งเข้าสู่ใบหน้า เพื่อยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทจากเซลล์ประสาท ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าไม่หดตัว ผิวหน้าเต่งตึง ดูไร้ริ้วรอยทั้งนี้ บริเวณที่นิยมฉีดโบท็อก ได้แก่ หน้าผาก หางตา โหนกแก้ม และมุมปาก

นอกจากนี้การฉีดโบท็อก ยังใช้เพื่อรักษาอาการผิดปกติตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนี้

  • โรคคอบิดเกร็ง
  • ภาวะตาขี้เกียจ
  • ภาวะเหงื่อออกมือ เท้า มากผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อหดรัด
  • ไมเกรนเรื้อรัง
  • กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
  • เปลือกตากระตุก

Botox มีขั้นตอนในการฉีดอย่างไรบ้าง

เมื่อไปสถานพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเข้ารับการฉีดโบท็อก จะมีขั้นตอนการฉีดดังต่อไปนี้

  • คุณหมอหรือพยาบาลทำความสะอาดใบหน้าของผู้ที่เข้ารับการฉีด
  • คุณหมอตรวจสภาพใบหน้าของผู้ที่เข้ารับการฉีด
  • คุณหมอทายาชาให้บริเวณใบหน้า อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลหรือลินิกบางแห่งอาจข้ามขั้นตอนนี้ และใช้วิธีการประคบน้ำแข็งแทน
  • คุณหมอฉีดโบท็อกลงบนใบหน้าในตำแหน่งที่ต้องการ โดยใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที

ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับการฉีดโบท็อก ควรเตรียมตัวดังนี้

  • งดรับประทานยาที่ทำให้เลือดหยุดไหลยาก เช่น แอสไพริน (Aspirin) รวมถึงวิตามินซีและน้ำมันตับปลา เนื่องจากมีคุณสมบัติทำให้เลือดหยุดไหลยากเช่นกัน
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดรอยช้ำหลังฉีดโบท็อกได้ง่าย
  • งดสูบบุหรี่ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้ผลลัพธ์ของการฉีดโบท็อกสั้นลง

ผลข้างเคียงจากการฉีด Botox

โดยทั่วไป ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดโบท็อก ประกอบด้วย

  • เจ็บ บวม หรือเกิดรอยช้ำ บริเวณที่ฉีดโบท็อก
  • ปวดหัว
  • ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลมากกว่าปกติ
  • ขยับปากหรือยิ้มไม่สะดวก น้ำลายไหล

โดยอาการต่าง ๆ เหล่านั้นมักค่อย ๆ หายไป นอกจากนั้น การฉีดโบท็อกโดยผู้ที่ขาดประสบการณ์ หรือตามคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ที่เข้ารับการฉีด เผชิญกับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น คิ้วตกหนังตาตก ใบหน้าแข็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น มีปัญหาในการกลืนอาหารหรือของเหลวพูดหรือหายใจลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาจนกระทั่งหายดีกลับมาเป็นปกติ

วิธีการดูแลตัวเองหลังฉีด Botox

หลังการฉีดโบท็อก ควรดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ในช่วง 1-2 ชั่วโมง แรกหลังฉีดโบท็อก ควรพยายามขยับกล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับการฉีด เพื่อให้โบท็อกกระจายเข้าสู่กล้ามเนื้อได้มากขึ้น
  • ในช่วง 4-6 ชั่วโมงหลังฉีดโบท็อก ควรเลี่ยงการนอนราบ เพราะการนอนราบ อาจทำให้โบท็อกเคลื่อนจากบริเวณที่ฉีดได้ ควรนอนยกศีรษะสูงขึ้นโดยใช้หมอนสูง 2 ใบ นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการนวดหรือกดบริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันโบท็อกเคลื่อนจากตำแหน่งที่ฉีดด้วย
  • ในช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดโบท็อก ควรเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความร้อน ไม่ว่าจากแสงแดดหรือห้องซาวน่า เพื่อป้องกันเหงื่อไหล เพราะอาจทำให้บริเวณที่ฉีดโบท็อกเกิดการระคายเคือง หรือเสี่ยงติดเชื้อได้
  • หากบริเวณที่ฉีดโบท็อกมีอาการบวมแดง อาจใช้การประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง

Botox ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเห็นผล

การฉีดโบท็อก มักเห็นผลภายใน 1-3 วันหลังจากการฉีด และผลของการฉีดโบท็อกหนึ่งครั้ง จะคงอยู่นานราว ๆ 3-6 เดือน ผู้ที่ต้องการให้ใบหน้าเต่งตึง ริ้วรอยแลดูตื้นขึ้น ควรฉีดสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลของโบท็อกคงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ความเป็นไปได้จะต่ำมาก แต่การฉีดโบท็อกบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดอาการดื้อโบท็อก (Botox Resistance) หรือฉีดโบท็อกแล้วเห็นผลน้อยหรือไม่เห็นผลเลย โดยเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายโบท็อกเมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย

Botox มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว การฉีดโบท็อกที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญถือว่ามีความปลอดภัย สามารถฉีดโบท็อกได้ ยกเว้นบุคคลบางกลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงในระยะให้นมบุตร ผู้ที่แพ้โปรตีนในนมวัว และผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Botox. https://medlineplus.gov/botox.html. Accessed July 8, 2022

Botox. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-botox. Accessed July 8, 2022

Botox injections. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/botox/about/pac-20384658. Accessed July 8, 2022

Botulinum toxin (Botox) A for reducing the appearance of facial wrinkles: a literature review of clinical use and pharmacological aspect. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6489637/. Accessed July 8, 2022

Botox injections. https://www.nhs.uk/conditions/cosmetic-procedures/botox-injections/. Accessed July 8, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวหนัง หย่อน คล้อย สาเหตุ และการรักษา

คันตามผิวหนัง ในผู้ป่วยเบาหวาน สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา