backup og meta

ดูแลผิวหน้า ลดความมันและป้องกันสิว ทำอย่างไร

ดูแลผิวหน้า ลดความมันและป้องกันสิว ทำอย่างไร

การดูแลผิวหน้า อาจช่วยแก้ปัญหาสุขภาพผิวต่าง ๆ เช่น ผิวหน้าโทรม ริ้วรอยก่อนวัยอันควร รวมถึงช่วยลดความมันที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวอีกด้วยดังนั้น จึงควรศึกษาวิธี ดูแลผิวหน้า อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น การล้างหน้า การเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างเหมาะสม การทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงการบีบสิว และควรทายารักษาสิวตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยดูแลผิวหน้าให้มีสุขภาพดีและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพผิวต่าง ๆ ได้

[embed-health-tool-bmr]

การดูแลผิวหน้า สำคัญอย่างไร

การดูแลผิวหน้าอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้ผิวหน้ามีสุขภาพดี กระจ่างใส ช่วยลดริ้วรอย ป้องกันการเกิดสิวและรอยสิว อีกทั้งยังอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผิวสามารถดูดซึมผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนวดผิวเบา ๆ ขณะทาครีมบำรุงหรือล้างหน้า อาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิวใหม่ ลดอาการบวม และอาจช่วยขับสารพิษออกจากผิวหนัง

การไม่ดูแลผิวหรือไม่เข้ารับการรักษาเมื่อเกิดปัญหาผิว อาจส่งผลให้ผิวโทรม ผิวหมองคล้ำ มีริ้วรอยก่อนวัย สิวขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการเป็นสิวอักเสบเรื้อรังที่อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น หลุมสิว ผิวหน้าไม่เรียบเนียน รวมถึงอาจเสี่ยงเป็นโรคเซ็บเดิร์มที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราเนื่องจากน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้ากระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป โดยสังเกตได้จากอาการผิวลอกเป็นขุย ตกสะเก็ด ผิวแดง โดยเฉพาะบริเวณข้างจมูก เปลือกตา ผิวรอบหนังศีรษะและแก้ม

วิธีดูแลผิวหน้า

วิธีดูแลผิวหน้า อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยน เพื่อช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก ป้องกันรูขุมขนอุดตันที่อาจนำไปสู่การเกิดสิว
  • เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า หรือควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิว
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีแดดจัด เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่อาจทำร้ายผิวหน้า ทำให้ผิวไหม้แดด หมองคล้ำ เกิดฝ้าและกระ
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้ารุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและบาดเจ็บ เกิดเป็นแผลเป็น
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และควรล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขนที่อาจก่อให้เกิดสิวอักเสบ
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
  • ไม่นำมือสัมผัสใบหน้า เพราะอาจทำให้สิ่งสกปรกและแบคทีเรียที่อยู่บนมือเข้าไปอุดตันในรูขุมขน
  • ควรทำความสะอาดสิ่งที่สัมผัสกับใบหน้าโดยตรงเป็นประจำ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ปลอกหมอน โทรศัพท์มือถือ
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ฟื้นฟูเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารเผ็ด เพราะอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันและเหงื่อ ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน
  • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง เล่นเกม ฟังเพลง เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนในผิวหนังที่มีบทบาทสำคัญช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังอาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้ผิวซีด หมอง และอาจก่อให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย
  • รักษาสิวด้วยยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบเจลหรือครีม เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) แดปโซน (Dapsone) หรือใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) นอกจากนี้ ยังอาจเข้ารับการรักษาสิวด้วยการฉีดสเตียรอยด์บริเวณสิวโดยตรง การเลเซอร์ หรือการกดสิวอุดตันออก
  • รักษารอยแผลเป็นจากสิวด้วยยาที่มีส่วนประกอบของกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) และกรดไฮดรอกซี (Hydroxyl Acids) หรือรักษาด้วยการเลเซอร์ การฉีดฟิลเลอร์ การลอกผิวด้วยสารเคมี หรือการกรอผิว เพื่อช่วยลดรอยดำและรอยแดงจากสิว ช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้น
  • รักษาฝ้าและกระบนใบหน้า โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin) ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) วิตามินซี หรืออาจรักษาด้วยการเลเซอร์หรือการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี เพื่อช่วยปรับผิวให้เรียบสม่ำเสมอ และช่วยลดรอยฝ้าและกระ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Skin care: 5 tips for healthy skin. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/skin-care/art-20048237.Accessed October 12, 2022

Building Your Perfect Skin Care Routine. https://www.webmd.com/beauty/ss/slideshow-skincare-routine.Accessed October 12, 2022

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047.Accessed October 12, 2022

10 SKIN CARE SECRETS FOR HEALTHIER-LOOKING SKIN. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/SKIN-CARE-SECRETS/ROUTINE/HEALTHIER-LOOKING-SKIN.Accessed October 12, 2022

HOW TO CONTROL OILY SKIN. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/SKIN-CARE-BASICS/DRY/OILY-SKIN.Accessed October 12, 2022

What’s the best treatment for acne scars?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/expert-answers/acne-scars/faq-20058101.Accessed October 12, 2022

MELASMA: DIAGNOSIS AND TREATMENT. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/MELASMA-TREATMENT.Accessed October 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทาสกินแคร์ อย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อบำรุงผิวหน้า

เทคนิคดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชาย ควรเริ่มต้นอย่างไรดี?


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา