ขาแตกลาย เกิดจากการยืดขยายหรือหดตัวอย่างรวดเร็วของผิวหนังบริเวณขา เช่น ช่วงสะโพก น่อง รอยแตกลายมักพบที่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก ต้นแขน สะโพก ก้น เป็นต้น ภาวะขาแตกลายไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลกระทบให้ขาดความมั่นใจในการแต่งกายได้ อย่างไรก็ตาม ขาแตกลายมักจางหายไปตามระยะเวลาและการดูแลผิวของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ เช่น การเลเซอร์ การผลัดเซลล์ผิว ก็อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้เร็วขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ขาแตกลาย คืออะไร
ขาแตกลาย คือ รอยริ้วบนผิวหนังบริเวณขา โดยเฉพาะต้นขา น่อง ที่เกิดจากผิวหนังยืดขยายหรือหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างของคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนังเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และเมื่อผิวหนังบริเวณนั้นซ่อมแซมตัวเอง อาจทำให้เกิดรอยแตกลายขึ้น โดยขาแตกลายอาจมีลักษณะเป็นริ้วหรือรอยแตกที่มีสีแตกต่างกันไปตามระยะเวลา เช่น ขาแตกลายในช่วงแรกจะมีสีแดง สีชมพูหรือสีม่วง และเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือเป็นปี รอยแตกลายจะกลายเป็นสีขาว ลักษณะริ้วรอยของขาแตกลายอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยแตกที่ขา และบางครั้ง อาจมีอาการคันร่วมด้วย ขาแตกลายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยปกติแล้วอาจดูจางลงตามกาลเวลา แต่การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์อาจช่วยให้รอยแตกดูจางลงเร็วขึ้นได้
ขาแตกลาย เกิดจากอะไร
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดขาแตกลายได้ อาจมีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
- การเพิ่มน้ำหนักและลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากกล้ามเนื้อขยายตัว จึงมักทำให้เกิดขาแตกลาย และมักพบรอยแตกลายที่หน้าท้องด้วย
- การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เนื่องจากยาสเตียรอยด์อาจทำให้การผลิตคอลลาเจนที่ผิวหนังลดลง และผิวสูญเสียความชุ่มชื้น จนผิวแห้ง และเสี่ยงแตกลายได้ง่ายขึ้น
- การออกกำลังกายบางรูปแบบ เช่น เพาะกาย ยกน้ำหนัก อย่างผิดวิธีหรือหักโหมเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อนูนขึ้น และเกิดรอยแตกลายได้
- ปัญหาสุขภาพ เช่น
- โรคอ้วน
- โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงกว่าปกติ
- มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) เป็นโรคที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome หรือ EDS) ผิวหนังสามารถยืดได้มากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายผลิตคอลลาเจนบกพร่อง
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดรอยแตกลายที่ขาได้ เช่น การผ่าตัด การใช้ยาคุมกำเนิด
วิธีการรักษาขาแตกลาย
ขาแตกลายอาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การทาครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) เรตินอยด์ (Retinoid) อาจช่วยให้ขาแตกลายระยะแรกจางลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ครีมเรตินอยด์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนทาครีมบำรุงผิว
- การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง โดยคุณหมอผิวหนังอาจแนะนำการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนังของแต่ละบุคคล วิธีรักษาขาแตกลายที่คุณหมอนิยมใช้ เช่น
- การเลเซอร์ การรักษาด้วยเลเซอร์มีหลายประเภท เช่น เลเซอร์ที่ทำให้ผิวลอก (Ablative Laser) เป็นการลอกผิวหนังชั้นนอกออกทั้งหมด อย่างเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เลเซอร์ที่ไม่ทำให้ผิวลอก (Nonablative Laser) อย่างเลเซอร์เอ็นดี แย็ก (Nd YAG Laser) เลเซอร์ไอพีแอล (IPL Laser) เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเซลล์ผิวใหม่ การรักษาด้วยเลเซอร์อาจทำหลายครั้งจึงจะเห็นผล
- การผลัดเซลล์ผิว เป็นการกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และเพื่อกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นมา
วิธีป้องกันขาแตกลาย
วิธีที่อาจช่วยป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเกิดขาแตกลายได้ เช่น
- การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่ ไม่ให้รูปร่างหรือสรีระเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเกินไป หากต้องการเพิ่มหรือลดน้ำหนัก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้ทราบวิธีลดหรือเพิ่มน้ำหนักที่ส่งผลเสียต่อผิวหนังและสุขภาพโดยรวมน้อยที่สุด
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายและสมดุลตามปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อเสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย และลดความเสี่ยงที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- หากอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ อาจทาครีมที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง และอาจช่วยป้องกันการเกิดรอยแตกลายที่ขาและบริเวณอื่น ๆ ได้