backup og meta

จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/03/2024

    จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน อาการ สาเหตุและการรักษา

    จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน (Petechiae) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก ทำให้เกิดเป็นจุดเลือดสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำตาล ไม่คันและไม่เจ็บปวด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ในบางกรณีอาการจุดแดงใต้ผิวหนังอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพร้ายแรงบางชนิดได้เช่นกัน จึงควรเข้าพบคุณหมอหากพบว่ามีจุดแดงใต้ผิวหนังร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ฟกช้ำ ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจถี่

    จุด แดง ใต้ ผิวหนัง ไม่ คัน เกิดจากอะไร

    จุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกจนเกิดเป็นจุดแดง ดังนี้

  • การบาดเจ็บ ผิวหนังที่ถูกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การกัด การเสียดสีบนผิวหนัง การถูกแดดเผาหรืออื่น ๆ อาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยแตกจนกลายเป็นจุดแดงใต้ผิวหนังได้
  • การหดเกร็งกร้ามเนื้ออย่างรุนแรง เช่น อาเจียน ยกของหนัก คลอดลูก อาจส่งผลให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังแตกได้
  • การติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบ ไข้อีดำอีแดง ไข้รากสาดใหญ่ (Rocky Mountain Spotted Fever หรือ RMSF) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus หรือ CMV) ไวรัสฮันตา (Hantavirus) ซึ่งอาจทำให้มีอาการจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน เหนื่อยล้า มีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวม ปวดเมื่อย คลื่นไส้และอาเจียน
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและมีอาการจุดแดงใต้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน ผิวหนังและตาเป็นสีเหลือง ช้ำง่าย
  • การขาดวิตามินซี เมื่อร่างกายขาดวิตามินซีอาจทำให้มีอาการเลือดออกตามไรฟันและฟกช้ำง่าย
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) เป็นการอักเสบของเส้นเลือดทำให้ มีการทำลายผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ปัญหาเส้นประสาท
  • ความผิดปกติของเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic Uremic Syndrome หรือ HUS) โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura หรือ ITP) ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกร็ดเลือดต่ำ
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อในเยื่อบุหัวใจ ซึ่งอาจทำให้มีจุดแดงใต้ผิวหนังเกิดขึ้น และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจถี่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว จุดแดงใต้ผิวหนังอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ อาจมีสัญญาณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เลือดออกง่าย มีรอยช้ำ เลือดกำเดาไหล เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ปฏิชีวนะ ยารักษามาลาเรีย ยากล่อมประสาท ยาระงับประสาท ยาที่ทำให้เกร็ดเลือดลดลง ยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเปราะง่ายและแตกเป็นจุดแดงใต้ผิวหนังได้
  • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) เป็นโรคติดต่อจากการจูบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) มักทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวม และมีไข้
  • ไข้เลือดออก การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกอาจทำให้เลือดแข็งตัวยากเนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ฟกช้ำ เลือดออกง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนแรง
  • จุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน มีอาการอย่างไร

    จุดแดงที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังอาจมีลักษณะคล้ายผื่น แต่ไม่แสดงอาการของผื่น ไม่คัน ไม่เจ็บ และไม่เป็นตุ่มนูน ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีแดง สีแดงเข้ม สีม่วงหรือสีน้ำตาลเล็ก ๆ กระจายทั่วผิวหนัง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก หากใช้นิ้วกดบริเวณที่มีจุดแดงลักษณะของสีจะไม่ซีดจางลง

    จุดแดงใต้ผิวหนังไม่คัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ แขน ขา ก้น ภายในเปลือกตา ปาก ท้อง

    การรักษาจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คัน

    หากจุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คันเป็นเพียงปัญหาเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย การใช้ยาบางชนิด หรือการติดเชื้อไวรัสไม่รุนแรง อาการจุดแดงจะค่อย ๆ หายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

    อย่างไรก็ตาม ควรเข้าพบคุณหมอหากพบจุดแดงใต้ผิวหนังไม่คัน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ฟกช้ำ เลือดออกง่าย เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง สำหรับการรักษาคุณหมออาจจำเป็นต้องวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการ จากนั้นคุณหมอจะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับโรคที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การทำเคมีบำบัด ฉายรังสีภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการทำลายหลอดเลือดและแก้อักเสบ
  • ยาช่วยกดระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับความบกพร่องของภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกง่าย
  • อาหารเสริมวิตามินซี เพื่อป้องกันการขาดวิตามินซีที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟันและทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา