ฉีดคีย์ลอยด์ มีจุดประสงค์เพื่อรักษาคีย์ลอยด์ หรือแผลเป็นนูนที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสมานแผลบนผิวหนัง ทำให้ร่างกายกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนที่เป็นเส้นใยมาช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวที่ได้รับความเสียหายมากเกินไป ส่งผลให้เนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นคีย์ลอย อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับการฉีดคีย์ลอยด์ ควรศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียด รวมถึงปรึกษาคุณหมอให้ดีก่อนเข้ารับการรักษา
[embed-health-tool-bmr]
ฉีดคีย์ลอยด์ คืออะไร
ฉีดคีย์ลอยด์ คือการรักษาคีย์ลอยด์ หรือแผลเป็นนูนบนผิวหนัง โดยใช้ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ฉีดเข้าไปบริเวณที่เป็นคีย์ลอยด์โดยตรง ทำให้ผิวหนังบริเวณคีย์ลอยด์นุ่มขึ้น และช่วยลดการอักเสบ ลดขนาดของแผลจนค่อย ๆ เรียบเนียนหายไป อย่างไรก็ตาม ควรฉีดคีย์ลอยด์อย่างต่อเนื่องตามที่คุณหมอกำหนด และอาจจำเป็นต้องรับการฉีดนานถึง 6 เดือน
ข้อดีและข้อเสียของการฉีดคีย์ลอยด์
ข้อดีและข้อเสียของการฉีดคีย์ลอยด์ อาจมีดังนี้
ข้อดีของการฉีดคีย์ลอยด์
- ทำให้รู้สึกเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัด
- ผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น รอยฟกช้ำหลังฉีดจากเข็มฉีดยา ผิวบางลง สีผิวเปลี่ยนแปลง
ข้อเสียของการฉีดคีย์ลอยด์
- จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งและต่อเนื่อง ทำให้อาจเสียเวลาเดินทาง
- ราคาแพง โดยขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษาและขนาดแผล
- ใช้ระยะเวลารักษานาน บางคนอาจต้องรักษานานเป็นเดือนหรือเป็นปี จนกว่าคีย์ลอยด์จะยุบตัวและเรียบเนียนไปกับผิว
การรักษาคีย์ลอยด์ด้วยวิธีอื่น
นอกเหนือจากการฉีดคีย์ลอย์ อาจรักษาคีย์ลอยด์ด้วยวิธีอื่นได้ มีดังนี้
- แผ่นซิลิโคนเจล โดยการนำแผ่นซิลิโคนเจลปิดบริเวณแผลที่หายสนิทแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ควรปิดเอาไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้แผลนูนหนา และอาจช่วยลดการอักเสบของแผลและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แผล
- เทปเหนียวสำหรับปิดแผล (Microporous tape) ใช้เพื่อปิดแผลที่ยังใหม่อยู่ เพื่อใช้แรงกดแผลป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเป็นคีลอยด์ โดยควรพันแผลเอาไว้ตลอด 12-24 ชั่วโมง เป็นเวลา 4-6 เดือน
- ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาในรูปแบบทา ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ทำให้ผิวบริเวณคีย์ลอยด์นุ่มขึ้นและค่อย ๆ จางลง เหมาะสำหรับผู้ที่มีคีย์ลอยด์เกิดขึ้นใหม่และมีขนาดเล็ก
- การบำบัดด้วยความเย็น เหมาะสำหรับคีย์ลอยด์ขนาดเล็ก ด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อช่วยลดขนาดของแผลเป็นลง อาจจำเป็นต้องทำการรักษาหลายครั้งตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยความเย็นคืออาจทำให้ผิวหนังพุพอง เกิดรอยด่างดำ และรู้สึกเจ็บปวด วิธีนี้สามารถใช้รักษาควบคู่กับการฉีดคีย์ลอยด์ได้
- เลเซอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีคีย์ลอยด์ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ โดยยิงแสงเลเซอร์ที่คีย์ลอยด์เพื่อช่วยให้ทำให้สีผิวบริเวณคีลอยด์จางลง บรรเทาอาการคัน วิธีนี้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ และอาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังพุพอง รอยดำ
- การกรอผิว เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นคีย์ลอยด์ขนาดเล็กที่เกิดจากสิวหรืออีสุกอีใส ทำให้ผิวไม่เรียบเนียน สามารถใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเลเซอร์ได้
- การรักษาด้วยรังสี เป็นการฉายรังสีในระดับต่ำที่คีย์ลอยด์ ส่วนใหญ่มักใช้ควบคู่กับการผ่าตัด โดยอาจฉายรังสีหลังผ่าตัด เพื่อลดขนาดคีย์ลอยด์และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดคีย์ลอยด์ออก และอาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉีดคีย์ลอยด์ด์ร่วมหลังผ่าตัด หรือการปิดแผลด้วยซิลิโคนเจล เพื่อป้องกันคีย์ลอยด์ขึ้นใหม่จากการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผ่าตัดบางส่วน ซึ่งอาจทำการผ่าตัด 2 ครั้ง ขึ้นไป แต่ละครั้งอาจจำเป็นต้องเว้นระยะอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น จึงสามารถผ่าตัดออกทั้งหมดในครั้งถัดไปได้