สิวอุดตัน เป็นสิวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัยโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวไม่เรียบเนียน และอาจนำไปสู่การอักเสบได้หากรักษาอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น ควรศึกษาวิธีรักษาสิวอุดตันอย่างเหมาะสมหรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อช่วย ลดสิวอุดตัน และป้องกันสิวอุดตันขึ้นใหม่
[embed-health-tool-bmr]
สิวอุดตัน คืออะไร
สิวอุดตัน คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน ส่งผลให้เกิดก้อนนูนแดง มีขนาดปานกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อสัมผัส นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน ดังนี้
- ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นฮอร์โมนเพศชายที่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามาก จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวอุดตัน
- สิ่งสกปรก เช่น ฝุ่นควัน เครื่องสำอาง เหงื่อ ที่อุดตันในรูขุมขน จนนำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จนอุดตันในรูขุมขน
- ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจนอุดตันรูขุมขนและเกิดเป็นสิวอุดตัน
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน การล้างหน้าไม่สะอาด อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนนำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน นอกจากนี้ การรับประทานของหวานหรือผลิตภัณฑ์จากนมปริมาณมากก็อาจเพิ่มความเสี่ยต่อการเกิดสิวอุดตันได้เช่นกัน
วิธีการลดสิวอุดตัน
วิธีที่อาจช่วยลดสิวอุดตัน มีดังต่อไปนี้
ลดสิวอุดตันด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่
ยารักษาสิวแบบทาเฉพาะที่จะมีในรูปแบบเจล โลชั่น ครีม และขี้ผึ้ง โดยตัวอย่างยาที่ใช้รักษาสิวอุดตันอาจมีดังนี้
- กลุ่มยาเรตินอยด์ (Retinoid) คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน เหมาะสำหรับการรักษาสิวอุดตันที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง ในช่วงแรกของการรักษาควรใช้เพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยาและควรทาก่อนนอน ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวไวต่อแสงแดด ผิวลอก ผิวระคายเคือง
- ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ใช้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดการอักเสบของสิว และช่วยลดสิวอุดตัน ควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเรตินอยด์ โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้าและทายากลุ่มเรตินอยด์ในช่วงเวลากลางคืนหรือก่อนนอน ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเพียงอย่างเดียวเพื่อป้องกันการดื้อยา และเพื่อให้การรักษาสิวอุดตันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีส่วนช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า ต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน ควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ กรดซาลิไซลิกอาจส่งผลข้างเคียงคือทำให้ผิวแดงหรือระคายเคืองผิวได้
ลดสิวอุดตันด้วยการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน
- ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง สำหรับบุคคลทั่วไปคุณหมออาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือแมคโครไลด์ (Macrolide) สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี สามารถใช้ได้เพียงแค่ยาแมคโครไลด์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากยาเตตราไซคลีนอาจส่งผลอันตรายต่อเด็กและทารกในครรภ์และอาจทำให้ฟันเปลี่ยนสี
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวอุดตันที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และเป็นสิวจากฮอร์โมนจะได้ผลดี
- ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ ใช้เพื่อช่วยลดสิวอุดตันและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่อาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ เจริญเติบโตของแบคทีเรีย ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนด เพื่อติดตามอาการในระหว่างที่ใช้ยารักษานี้
ลดสิวอุดตันด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- การผลัดเซลล์ผิว คือการใช้กรดซาลิไซลิกเพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก เพื่อให้หัวสิวโผล่และสามารถกดสิวออกง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับไม่รุนแรง และมีการสะสมของหนองใต้ผิว แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
- การบำบัดด้วยแสง คือการฉายแสงเพื่อช่วยลดการอักเสบของสิวอุดตัน บรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิว และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว แต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
- การฉีดสเตียรอยด์เข้าสู่สิวอุดตันโดยตรง เพื่อช่วยลดขนาดสิวอักเสบและบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิว แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังบาง ผิวหนังเปลี่ยนสี
วิธีป้องกันสิวอุดตัน
นอกเหนือจากการ ลดสิวอุดตัน อาจดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้สิวอุดตันมีอาการแย่ลงหรือกลับมาเป็นซ้ำ ได้ดังนี้
- ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยโฟมล้างหน้าสูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม เพื่อขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกิน ป้องกันการอุดตันในรูขุมขน และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสิวอุดตัน
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ระบุว่า Non-comedogenic เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ป้องกันไม่ให้สิวอุดตันมีอาการแย่ลงและอาจช่วยลดสิวอุดตันได้
- ควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 นาที เนื่องจากกความร้อนจากแสงแดดกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ยารักษาสิวบางชนิดก็อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ดังนั้น จึงควรปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 สวมเสื้อผ้าแขนขายาว สวมหมวกปีกกว้าง และใส่แว่นกันแดด
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ อาหารไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันหรือทำให้สิวอุดตันที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง
- ไม่ควรสัมผัสใบหน้าหากยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดสิวอุดตันได้
- ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เล่นเกม นอนพักผ่อน ดูหนัง อ่านหนังสือ เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่อาจกระตุ้นการหลั่งน้ำมันบนใบหน้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันได้