backup og meta

วิธีรักษาสิวอักเสบ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีรักษาสิวอักเสบ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง

สิวอักเสบ คือ สิวที่เกิดจากรูขุมขนอักเสบ ที่มีปัจจัยต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ยาบางชนิด เซลล์ผิวเก่าและสิ่งสกปรกอุดตัน จนทำให้เกิดตุ่มนูนขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส หรือถูกเสียดสี โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สิวตุ่มใหญ่ (Nodule) สิวหัวหนอง (Pustules) สิวตุ่มแดง (Papules) และสิวซีสต์ (Cystic Acne) การเรียนรู้วิธีรักษาสิวอักเสบอย่างถูกต้อง อาจช่วยบรรเทาและรักษาให้ผิวกลับมาเรียบเนียน ป้องกันปัญหาผิวที่อาจมาพร้อมกับสิวอักเสบ และช่วยลดโอกาสการเกิดสิวอักเสบซ้ำได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ

สิวอักเสบ เกิดจากสิ่งสกปรก น้ำมันส่วนเกิน และเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันในรูขุมขนจนส่งผลให้เกิดการอักเสบ นำไปสู่การเกิดสิวใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อระดับฮอร์โมนแอนโดรเจเพิ่มขึ้น อาจทำให้ต่อมไขมันขยาย และผลิตน้ำมันที่ผิวออกมามากเกินไป จนกลายเป็นน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น รวมถึงผู้หญิงที่อยู่ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงก่อนเป็นประจำเดือน และวัยหมดประจำเดือน
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกิน จนทำให้รูขุมขนอุดตันและก่อให้เกิดสิว หรืออาจทำให้อาการสิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพราะอาจมีสารประกอบของโบรไมด์ ไดแลนติน วิตามินบี 12 และไอโอไดด์ (Iodide) อาจกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันมากขึ้นจนอุดตันในรูขุมขนและทำให้เกิดสิว
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน การเช็ดเครื่องสำอางไม่สะอาด เข้านอนทั้งที่แต่งหน้า ทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก

วิธีรักษาสิวอักเสบ

วิธีรักษาสิวอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

1. ยารักษาสิวรูปแบบยาทาเฉพาะที่ ในรูปแบบเจลหรือครีม เช่น

  • ยาเรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน เหมาะสำหรับรักษาสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง ในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวันสม่ำเสมอ โดยควรทาก่อนนอน เพื่อป้องกันผิวไวต่อแสงแดด 
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มีคุณสมบัติที่อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดการอักเสบของสิว และลดรอยแดง ควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ เพื่อให้การรักษาสิวอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้นและป้องกันการดื้อยา โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ในช่วงเย็น
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีส่วนช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบแล้วล้างออก หรือทาทิ้งไว้ข้ามคืนตามคำแนะนำของคุณหมอ ยานี้อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวแดง ระคายเคือง

2. ยารักษาสิวรูปแบบรับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรหลีกเลี่ยงยาเตตราไซคลีนเนื่องจากอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ รวมถึงอาจทำให้ผิวไวต่อแสง และฟันเปลี่ยนสี นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เจ็บคอ ท้องร่วง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง และปวดท้อง ควรหยุดรับประทานยาและเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ยา
  • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้ต่อมไขมันขยาย และทำให้ผลิตน้ำมันส่วนเกินได้มากขึ้นนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้ต่อเมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะเท่านั้น
  • ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน ควรรับประทานในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกร่วมกับการรักษาสิวอักเสบวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวอักเสบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักขึ้น คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
  • ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคภาวะซึมเศร้า ทารกในครรภ์พิการ ตับอักเสบ ดังนั้น ระหว่างใช้ยานี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อติดตามอาการข้างเคียง

3. การรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์

  • การกดสิว อาจช่วยกำจัดหนองหรือไขมันที่อุดตันในรูขุมขนออก ควรรักษาควบคู่กับการใช้ยาทาเฉพาะที่ การกดสิวอาจส่งผลให้เกิดแผลเป็นหลังรักษาได้ ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติมเพื่อรักษารอยสิว
  • การบำบัดด้วยแสง มีหลายรูปแบบ ที่อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังและทำให้รูขุมขนเล็กลงเพื่อลดการอุดตัน โดยคุณหมอจะพิจารณาแสงที่เหมาะสมจากอาการของสิวอักเสบ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้หลายครั้ง ผลข้างเคียงของการบำบัดด้วยแสงอาจส่งผลให้ผิวหนังบวมแดง ผิวเปลี่ยนสี ผิวแห้ง ผื่นขึ้น
  • การฉีดสเตียรอยด์ การฉีดสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรงอาจช่วยลดการอักเสบของสิว และบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิวได้แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสี ผิวหนังเป็นหลุม
  • การผลัดเซลล์ผิวด้วยเคมี เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวไม่รุนแรง ที่อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า และรักษารอยสิว แต่อาจจำเป็นต้องเข้าการรักษาหลายครั้ง

การดูแลผิวหน้าและ ป้องกันสิวอักเสบ 

การดูแลผิวหน้าและ ป้องกันสิวอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลสูง เพราะอาจเพิ่มการผลิตน้ำมันบนใบหน้าที่อาจก่อให้เกิดสิว
  • ล้างหน้าด้วยน้ำไม่ร้อนอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าและน้ำมันส่วนเกิน
  • เลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับสภาพผิว และปราศจากน้ำหอม
  • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดสิว
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป อย่างน้อย 20 นาที ก่อนออกแดด และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หรืออาจสวมหมวกปีกกว้าง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดสิว และลดอาการผิวไวต่อแสงระหว่างที่ใช้ยารักษาสิว
  • หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า และการขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ สิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน และเสี่ยงต่อการเกิดสิวได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า หรือควรเลือกเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมด ล้างหน้าให้สะอาด ไม่นอนทั้งที่แต่งหน้า เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันก่อให้เกิดสิวอักเสบบริเวณกรอบหน้าได้ หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่นำไปสู่การกระตุ้นการผลิตน้ำมันที่ก่อให้เกิดสิว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ACNE: SIGNS AND SYMPTOMS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ACNE/REALLY-ACNE/SYMPTOMS 

Acne. HTTPS://WWW.MAYOCLINIC.ORG/DISEASES-CONDITIONS/ACNE/SYMPTOMS-CAUSES/SYC-20368047. Accessed March 24, 2022  

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ACNE/DIY/TYPES-BREAKOUTS. Accessed March 24, 2022  

Overview-Acne. HTTPS://WWW.NHS.UK/CONDITIONS/ACNE/. Accessed March 24, 2022  

Cystic Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/cystic-acne. Accessed March 24, 2022  

10 Tips for Preventing Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/10-tips-for-preventing-pimples. Accessed March 24, 2022  

Tetracycline HCL – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-5919/tetracycline-oral/details. Accessed March 24, 2022  

Do I Need Phototherapy for Acne? https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/phototherapy-for-acne. Accessed March 24, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวขึ้นตามตัว เกิดจากอะไร

เลเซอร์หลุมสิว คืออะไร มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา