สิวในจมูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ขนคุด การอุดตันของรูขุมขนภายในจมูก การติดเชื้อแบคทีเรียภายในรูจมูก โดยปกติแล้ว เมื่อเป็นสิวในจมูก สามารถดูแลตนเองและรอให้สิวหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปหาคุณหมอ อย่างไรก็ตาม หากเป็นสิวในจมูกพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดรอบ ๆ จมูก จมูกบวมแดง สิวในจมูกเป็นหนอง ควรไปพบคุณหมอ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]
สาเหตุของการเป็นสิวในจมูก
สิวในจมูก เป็นได้จากสาเหตุหลัก ๆ หลายประการ ดังนี้
- การอุดตันของต่อมไขมันในรูขุมขน เนื่องจากสิ่งสกปรกหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ร่วมกับสาเหตุด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) ซึ่งร่างกายผลิตออกมามากเกินไป
- ขนคุด หรือเส้นขนขดอยู่ในรูขุมขนไม่งอกขึ้นมาเหนือผิวหนังตามปกติ ทั้งนี้ ขนคุดอาจเกิดได้หากผิวแห้ง การมีขนเส้นใหญ่ หรือรูขุมขนอุดตัน ซึ่งหากพยายามเอาขนออกจากบริเวณที่เป็นขนคุดอาจทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวในจมูกได้
- การติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) อาจทำให้เกิดการอักเสบของช่องจมูกส่วนหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งของสิวในจมูกได้เช่นกันโดยจะพบร่วมกับอาการอื่นๆได้แก่จมูกเจ็บและบวม เลือดกำเดาไหล จมูกแห้ง ไข้ขึ้น
อาการแทรกซ้อน เมื่อเป็นสิวในจมูก
เมื่อเป็นสิวในจมูก ที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะภาวะเนื้อเยื่อโพรงจมูกบาดเจ็บ มักเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัสซึ่งชอนไชเข้าไปในรูจมูกลึกกว่าปกติ เป็นเหตุให้จมูกติดเชื้อหรืออักเสบได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัจจัยซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของสิวในจมูกอย่างโพรงจมูกบาดเจ็บ ได้แก่
- การแคะจมูก
- การดึงขนจมูก
- การสั่งน้ำมูกอย่างแรง
- การเจาะจมูก
สำหรับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคเบาหวาน มักเสี่ยงเป็นช่องจมูกส่วนหน้าอักเสบมากกว่าคนทั่วไป
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
โดยปกติ สามารถดูแลตนเองจนสิวในจมูกหายได้เอง และอาจไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นสิวในจมูก พร้อมอาการที่อาจบ่งบอกว่าเป็นช่องจมูกส่วนหน้าอักเสบ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
การรักษา เมื่อเป็นสิวในจมูก
เมื่อเป็นสิวในจมูก วิธีการรักษาและดูแลตนเอง สามารถทำได้ ดังนี้
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ซึ่งอาจซื้อจากเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
- ประคบจมูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือระคายเคืองของสิวให้ทุเลาลง
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือบีบสิว เพื่อป้องกันสิวในจมูกอักเสบ หรือทำให้เนื้อเยื่อภายในจมูกบาดเจ็บ และอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
ในกรณีเป็นสิวในจมูก เนื่องจากช่องจมูกส่วนหน้าอักเสบ วิธีการรักษาอาจมีดังนี้
- ทายาต้านเชื้อที่จมูก เช่น มิวพิโรซิน (Mupirocin) แบคซิทราซิน (Bacitracin) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วันติดต่อกัน
- รับประทานยาต้านแบคทีเรีย ในกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรง คุณหมอจะจ่ายยาไดคลอกซาซิลลิ (Dicloxacillin) ให้รับประทานวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่องกันประมาณ 7-10 วัน
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
สิวในจมูก สามารถป้องกันได้และลดโอกาสเสี่ยงด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ล้างมือก่อนสัมผัสจมูก เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคที่อาจเกาะอยู่ในบริเวณอื่นของร่างกายเข้าสู่จมูก หรือบริเวณใบหน้า
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมซึ่งอาจทำให้ภายในจมูกบาดเจ็บ เช่น การแคะจมูก ดึงขนจมูก หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้จมูกเป็นสิวเพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียในบาดแผลได้
- เลือกรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคขนมหวาน หรือเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลที่เติมลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่ม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นสิวมากขึ้น