เป็นสิวที่หลัง เป็นภาวะสุขภาพผิวที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย สิวที่หลังมักขึ้นที่ผิวหนังบริเวณไหล่และหลังส่วนบน แต่บางครั้งก็อาจลุกลามไปทั่วแผ่นหลัง ลำตัว จนถึงบริเวณเอว สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม เหงื่อที่สะสมบนผิวหนัง การเสียดสีกับเสื้อผ้า ระดับฮอร์โมนที่แปรปรวน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ความเครียด เป็นต้น การใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอาจช่วยรักษาสิวที่หลังได้ ทั้งนี้ ควรดูแลตัวเองให้มีสุขอนามัยที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นสิวที่หลังซ้ำอีก
สาเหตุที่ทำให้เป็นสิวที่หลัง
สาเหตุที่ทำให้เป็นสิวที่หลัง อาจมีดังนี้
- พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นสิวที่หลัง อาจเสี่ยงเป็นสิวที่หลังได้มากกว่าคนทั่วไป
- การเสียดสี เมื่อผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้า กระเป๋าเป้ หรืออุปกรณ์กีฬาเป็นเวลานานอบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดสิวหรือสิวลุกลามมากขึ้น
- ฮอร์โมน วัยรุ่นชายหญิงและหญิงตั้งครรภ์มักมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงบ่อย จนอาจส่งผลให้เกิดสิวที่หลังได้ง่ายขึ้น
- การใช้ยารักษาโรค ยารักษาโรคบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจทำให้เกิดสิวหรือทำให้สิวที่หลังแย่ลงได้
- สุขอนามัย ผู้ที่ไม่ค่อยอาบน้ำหรือสระผม อาจทำให้มีน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกสะสมที่แผ่นหลังจนส่งผลให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิว นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว หรือสวมใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยไม่ซักบ่อย ๆ ก็เสี่ยงเป็นสิวที่หลังได้เช่นกัน
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โลชั่นและครีมทาผิวบางชนิดอาจอุดตันรูขุมขนและทำให้เกิดสิวได้ โดยเฉพาะชนิดที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม
- ความเครียด เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) ที่คอยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แต่หากมีน้ำมันมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดสิวได้
- เหงื่อไคล เหงื่อที่สะสมบนผิวหนังหรือติดอยู่บนเสื้อผ้าเป็นเวลานาน อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิวที่หลังได้
ประเภทของสิวที่หลัง
ประเภทของสิวที่หลัง อาจแบ่งได้ดังนี้
- สิวหัวดำ หรือสิวอุดตันหัวเปิด เกิดจากน้ำมัน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกอุดตันรูขุมขน และเมื่อสิ่งอุดตันเหล่านั้นสัมผัสอากาศ ก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว หรือสิวอุดตันหัวปิด เป็นสิวตุ่มเล็ก ๆ มองเห็นเป็นสีขาวบนผิว เกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และแบคทีเรียอุดตันอยู่ภายในรูขุมขน
- สิวตุ่มแดง เป็นสิวอักเสบที่ยังไม่รุนแรงมาก ลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ที่อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองเจ็บปวดได้
- สิวตุ่มหนอง เป็นสิวอักเสบที่คล้ายกับสิวตุ่มแดง แต่ตรงกลางจะมีหนองสีขาวขุ่น และมีการอักเสบรุนแรงกว่าสิวตุ่มแดง และมักทำให้มีอาการเจ็บปวดมากกว่า
- สิวหัวช้าง เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่สุด ลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ เป็นไตและมีหนอง อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคัน
- สิวซีสต์ หรือซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง เป็นก้อนที่เกิดจากต่อมไขมันอุดตัน ลักษณะคล้ายฝี มีขนาดใหญ่ กดแล้วอาจรู้สึกเจ็บมาก
วิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิวที่หลัง
เป็นสิวที่หลัง อาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ทาครีม เจล หรือโลชั่นที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว เมื่อใช้เป็นประจำทุกวันจะช่วยควบคุมการเกิดสิวและลดความเสี่ยงในการลุกลาม ควรทาให้ทั่วบริเวณที่เป็นสิวแทนการทาเฉพาะจุด และอาจใช้ในระดับความเข้มข้นไม่เกิน 5.3% เพื่อไม่ให้ผิวระคายเคือง แห้งกร้าน หรือลอก
- ใช้ผลิตภัณฑ์เรตินอยด์ (อะดาพาลีน 0.1%) ร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์เพื่อช่วยให้รูขุมขนเปิด เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์จะได้ออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากเป็นสิวที่หลังในระดับเบาหรือปานกลาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวดังคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดสิวได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรักษาทางการแพทย์
- หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน เช่น น้ำมัน แว็กซ์ ซิลิโคน ที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
- เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ระบุบนฉลากว่าเหมาะกับผิวแพ้ง่าย หรือไม่ทำให้เกิดสิว และปราศจากน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ครีมนวดผมและผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนประกอบของน้ำมันและซิลิโคน เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดสิวอักเสบและสิวหัวขาว ที่หนังศีรษะ หลังคอ และสิวอาจลุกลามไปที่ผิวบริเวณไหล่และแผ่นหลังได้ ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผม
- ซักชุดเครื่องนอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และไม่ควรสวมเสื้อผ้าซ้ำโดยไม่ได้ซัก เนื่องจากอาจมีเหงื่อ สิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้วติดอยู่บนเสื้อผ้า และอาจทำให้เกิดสิวได้
- หากเป็นสิวที่หลังเนื่องจากการเสียดสี อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ เช่น ใช้แผ่นรองหลังเพื่อไม่ให้ผิวบริเวณหลังเสียดสีกับอุปกรณ์กีฬา เลือกสวมชุดหลวม ๆ ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- หากเป็นสิวที่หลังจากการใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนยา
- หลีกเลี่ยงการใช้แปรงถูหลังหรือใช้ฟองน้ำขัดผิวบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองมากขึ้น และสิวที่หลังแย่ลงได้
วิธีป้องกันสิวที่หลัง
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวที่หลัง อาจทำได้ดังนี้
- หลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น การออกกำลังกาย ควรอาบน้ำให้สะอาด ซับตัวให้แห้ง และสวมเสื้อผ้าชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
- ซักชุดออกกำลังกายหลังใช้งานทุกครั้ง
- จัดการกับความเครียด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดสิว
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุบนฉลากว่าไม่ก่อให้เกิดสิว
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ซับเหงื่อได้ดี และระบายอากาศได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของที่กระทบและเสียดสีผิวหนังบริเวณแผ่นหลังเป็นเวลานานหรือทำให้แผ่นหลังมีเหงื่อและอับชื้น เช่น กระเป๋าเป้