อาการส้นเท้าแตก คือ ภาวะที่ผิวหนังบริเวณขอบส้นเท้าแห้ง แข็ง และหนาขึ้น และเกิดเป็นรอยแตก เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไป ส้นเท้าแตกเกิดจาก ผิวหนังบริเวณส้นเท้าขาดความชุ่มชื้น เนื่องจากอายุที่มากขึ้น การไม่บำรุงผิวบริเวณส้นเท้า การบาดเจ็บที่เท้า เป็นต้น อาการนี้ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษา อาจทำให้ผิวหนังหนาขึ้น แตกจนเป็นร่องลึก ผิวหนังแยกเป็นแผ่น จนถึงขั้นเลือดออก และอาจทำให้เจ็บเมื่อทิ้งน้ำหนักลงที่ส้นเท้าและในขณะเดิน จึงควรดูแลส้นเท้าด้วยวิธีที่เหมาะสมเป็นประจำ เช่น สวมถุงเท้าและรองเท้าแตะในบ้าน ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงส้นเท้า สวมรองเท้าที่เหมาะกับสรีระเท้า เพราะอาจช่วยป้องกันส้นเท้าแตก และช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ได้
[embed-health-tool-bmi]
ส้นเท้าแตกเกิดจาก อะไร
ส้นเท้าแตกเป็นภาวะที่ผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้าเกิดรอยแตกเนื่องจากผิวหนังแห้งกร้านและขาดความชุ่มชื้น เมื่อลูบแล้วอาจรู้สึกเหมือนสัมผัสเหมือนกระดาษทราย อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- อายุมากขึ้น กระบวนการผลัดเซลล์ผิวจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตคอลลาเจน อีลาสติน และน้ำมันเคลือบผิวได้น้อยลง ทำให้ผิวหนังบริเวณส้นเท้าและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแห้งและขาดน้ำได้ง่าย
- การบาดเจ็บที่ส้นเท้า เมื่อผิวหนังบริเวณส้นเท้าถูกเสียดสีซ้ำ ๆ อาจทำให้ผิวหนังหนาขึ้นและขาดความชุ่มชื้น และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เช่น อยู่ในสภาพอากาศแห้งเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ส้นเท้าแตกได้
- ผิวหนังขาดการดูแล หลายคนอาจไม่ได้ทาครีมบำรุงหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ผิวบริเวณส้นเท้าให้ผิวชุ่มชื้นเหมือนกับผิวหน้าและผิวกาย ไม่สวมถุงเท้าและเดินเท้าเปล่าเป็นประจำ หรือสวมรองเท้าที่ไม่ได้รองรับน้ำหนักอย่างเหมาะสม จนอาจทำให้ส้นเท้าแห้งและแตกได้
- ภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis หรือ Eczema) การติดเชื้อราที่ผิวหนัง (Fungal infection) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) การขาดสารอาหาร (Nutritional deficiencies) โรคเบาหวาน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ส้นเท้าแตกได้เช่นกัน
อาการส้นเท้าแตก เป็นอย่างไร
อาการส้นเท้าแตก ที่พบได้บ่อย เช่น
- ผิวหนังบริเวณขอบส้นเท้าแห้ง แข็ง และหนาขึ้น
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม
- ผิวหนังมีรอยแตกเป็นร่อง ลอกเป็นขุย แยกออกเป็นแผ่น
- อาจจะมีเลือดออก รู้สึกเจ็บบริเวณร่องที่แตกเมื่อเดินลงน้ำหนัก หรือโดนน้ำ
หากไม่รักษาและดูแลอาการส้นเท้าแตกอย่างเหมาะสม อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกโคสิส (Streptococcus) และสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ที่นำไปสู่การเกิดโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ได้ในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อมีอาการบวม แดง และปวด ต้องรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ และอาจต้องตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออก
ส้นเท้าแตก วิธีแก้ ทำได้อย่างไร
การรักษาและดูแลอาการส้นเท้าแตกอย่างเหมาะสม อาจทำได้ดังนี้
- ใช้ครีมหรือโลชั่นบำรุงที่มีส่วนประกอบของสารขัดผิว เช่น ยูเรีย กรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta hydroxy acid) แซคคาไรค์ ไอโซเมอเรท (Saccharide isomerate) อาจช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและทำให้ส้นเท้าอ่อนนุ่ม
- ใช้พลาสเตอร์ยาแบบเหลว เจล หรือสเปรย์ ที่มียาฆ่าเชื้อผสมอยู่ด้วย เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณรอยแยกของผิวหนัง ปกป้องผิวหนังจากฝุ่น แบคทีเรีย และสิ่งสกปรก จึงอาจช่วยให้ส้นเท้าหายแตกได้เร็วขึ้น
- ใช้มาสก์เท้า (Foot Peeling) ที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) หรือกรดแลคติก (Lactic acid) อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวและขจัดเซลล์ผิวเดิมที่แห้งกร้านออกไป ทำให้เท้าที่แห้งแตกและดูขาดน้ำนุ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรใช้สารเคมีลอกเซลล์ผิวหากมีแผลที่เท้า หรือมีโรคผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน รวมไปถึงอาการทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่น บาดแผลบนผิวหนัง
- ล้างเท้าเป็นประจำ หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 2-3 นาที ไม่ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นนานเกินไป หรือใช้น้ำร้อนจัด เพราะอาจทำให้ผิวอ่อนแอและสูญเสียความชุ่มชื้นมากกว่าเดิม พยายามอย่าขัดผิวหรือใช้สบู่ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม
- หลังจากแช่เท้าในน้ำหรืออาบน้ำเสร็จ และซับเท้าจนแห้งแล้ว ให้ใช้ครีมหรือโลชั่นทาทั่วบริเวณเท้าเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวหนัง
- สวมถุงเท้าผ้าฝ้ายเมื่อเข้านอนเพื่อรักษาความชื้นให้อยู่ในเท้าขณะหลับ โดยเฉพาะผู้ที่เปิดเครื่องปรับอากาศขณะนอนหลับ
วิธีป้องกันส้นเท้าแตก
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันส้นเท้าแตก อาจทำได้ดังนี้
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงส้นเท้าอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจช่วยลดแรงกดที่ส้นเท้า ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน
- สวมรองเท้าที่เหมาะกับสรีระของเท้า หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าเปิดส้นและรองเท้าแตะที่ไม่ช่วยรับรองแผ่นไขมันใต้ฝ่าเท้า
- สวมถุงเท้าเป็นประจำหรือสวมรองเท้าแตะภายในบ้านเพื่อไม่ให้ผิวหนังชั้นกำพร้ากับพื้นผิวเสียดสีกันมากเกินไป ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและไม่สวมคู่เดิมซ้ำหากถุงเท้าเปียกหรือชื้นเหงื่อ เพราะอาจเกิดการสะสมของแบคทีเรียได้
- ไม่ควรขัดเท้าด้วยอุปกรณ์ขัดเท้าอย่างรุนแรง