backup og meta

เป็นฝี เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

เป็นฝี เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร
เป็นฝี เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

ฝี คือ ตุ่มนูนใต้ผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถปรากฏเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ใบหน้า ขาหนีบ รักแร้ ก้น หลัง หน้าอก คอ สมอง ไขสันหลัง ช่องท้อง และเหงือก หาก เป็นฝี หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ฝีมีขนาดใหญ่เกินไป มีไข้สูง ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที ก่อนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองบวม เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นฝีตาย การติดเชื้อที่กระดูก และเยื่อบุหัวใจอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เป็นฝี

สาเหตุที่ทำให้เป็นฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะต่อสู้กับแบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบางส่วนตาย และมีหนองสะสมจนกลายเป็นฝี อีกทั้งหากดูแลสุขอนามัยไม่ดีก็อาจทำให้เซลล์ผิวเก่าและสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในรูขุมขน และทำให้ฝีอักเสบ เพิ่มขยายใหญ่ขึ้น และอาจส่งผลให้มีอาการปวดมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มโอกาสทำให้เป็นฝี เช่น โรคเบาหวาน โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคพิษสุราเรื้อรัง การทำเคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์ การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น

อาการเมื่อเป็นฝี

อาการเมื่อเป็นฝี มีดังนี้

  • ตุ่มฝีนูนแดง บางคนอาจมีหนองสีขาวบริเวณหัวฝีที่เห็นได้ชัด
  • ตุ่มฝีอาจมีอาการอักเสบและอาการบวม
  • รู้สึกปวดบริเวณตุ่มฝี
  • มีหนองไหลออกจากตุ่มฝี
  • มีไข้
  • หนาวสั่น

ควรพบคุณหมอทันทีหากฝีเป็นฝีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการเจ็บปวดรุนแรง รวมถึงหากเป็นฝีบริเวณใกล้ขาหนีบ ทวารหนัก และอวัยวะเพศ

วิธีรักษาเมื่อเป็นฝี

วิธีรักษาเมื่อเป็นฝี อาจทำได้ดังนี้

เป็นฝีที่ผิวหนัง

  • ประคบร้อน หากเป็นฝีที่ผิวหนังขนาดเล็ก อาจรักษาได้ด้วยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ครั้งละ 10 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการบวม ลดขนาดของฝี และอาจช่วยทำให้หนองระบายออกได้เอง
  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) เซฟาเลกซิน (Cephalexin) และ ซัลฟาเมทอกซาโซล ไตรเมโทพริม(Sulfamethoxazole Trimethoprim)  เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝี และช่วยบรรเทาอาการของฝี
  • ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีฝีขนาดใหญ่และรู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการปวดบริเวณฝีอย่างรุนแรง โดยคุณหมออาจทำการกรีดฝีเพื่อระบายหนองออก และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ ก่อนจะใช้ผ้าพันแผลปิดแผลเอาไว้ การผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น การอักเสบ และการติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เช่น หมั่นล้างแผล รับประทานยา และสังเกตอาการผิดปกติ หากมีไข้หรือแผลมีอาการบวมแดง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

เป็นฝีภายใน

สำหรับผู้ที่เป็นฝีภายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ไขสันหลัง สมอง ช่องท้อง คุณหมออาจรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจใช้วิธีการเจาะฝีเพื่อระบายหนองออกให้หมด เพื่อช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำและการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ

วิธีป้องกันตัวเองหากไม่อยากเป็นฝี

วิธีป้องกันตัวเองหากไม่อยากเป็นฝี อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม มีดโกนขน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง เช่น โกนขน แว๊กซ์ขน เกาหรือขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ปลอกหมอน และเสื้อผ้า ด้วยน้ำอุ่นและควรตากแดดให้แห้งสนิท เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Abscess. https://www.nhs.uk/conditions/abscess/.Accessed August 17, 2022. 

Treatment-Abscess. https://www.nhs.uk/conditions/abscess/treatment/.Accessed August 17, 2022. 

Abscess. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/abscess.Accessed August 17, 2022. 

Abscess. https://medlineplus.gov/ency/article/001353.htm.Accessed August 17, 2022. 

Skin Abscess. https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2677448.Accessed August 17, 2022. 

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไฝเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ สามารถเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่

ฝีไม่มีหัว เป็นอย่างไร หายเองได้หรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา