โดยทั่วไป ร่างกายจะขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนและกำจัดสารเคมีบางอย่าง โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกาย อากาศร้อนเกินไป เมื่อรู้สึกกลัวหรือมีภาวะเครียด แต่บางรายอาจมี เหงื่อออกเยอะ จนอาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศหรือการออกกำลังกาย แต่บางรายอาจเกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิดหรือจากภาวะสุขภาพบางประการได้ เช่น โรคเบาหวาน หัวใจล้มเหลว โรควิตกกังวล ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์
[embed-health-tool-bmi]
เหงื่อออกเยอะ เกิดจาก อะไร
เหงื่อออกเยอะ (Hyperhidrosis) เป็นภาวะที่ร่างกายมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ มักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจทำให้รู้สึกอับอายหรือไม่มั่นใจ ทั้งยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม และการทำงานได้
ภาวะเหงื่อออกเยอะสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้
- ภาวะเหงื่อออกเยอะแบบไม่มีสาเหตุ (Primary hyperhidrosis) เป็นลักษณะของการมีเหงื่อออกเยอะที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไป เหงื่อจะออกเยอะตามมือ รักแร้ ใบหน้า และเท้า มักเกิดในคนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี และอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมเพราะผู้ที่มีภาวะนี้บางรายมีญาติใกล้ชิดที่มีอาการคล้ายกัน
- ภาวะเหงื่อออกเยอะจากภาวะความผิดปกติของร่างกาย (Secondary hyperhidrosis) อาจเกิดจากภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะวัยหมดประจำเดือน ปัญหาต่อมไทรอยด์ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคมะเร็งบางชนิด ภาวะหัวใจวาย ความผิดปกติของระบบประสาท การติดเชื้อ หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาอย่างยาต้านเศร้า ยารักษาเบาหวาน ยารักษาอัลไซเมอร์ เป็นต้น
อาการเหงื่อออกเยอะ เป็นอย่างไร
อาการเหงื่อออกเยอะ มีดังนี้
- มีเหงื่อออกเยอะจนที่เป็นสังเกต มีเหงื่อผุดเป็นเม็ด และอาจซึมผ่านเสื้อผ้า
- มีปัญหาในการจับปากกา หมุนลูกบิดประตู ใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ดเพราะหงื่อออกเยอะเกินไป
- ผิวหนังชื้นจากเหงื่อเป็นเวลานาน
- ติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณที่เหงื่อออกเยอะเป็นประจำ
อาการเหงื่อออกเยอะ ยังอาจแบ่งตามประเภทได้ดังนี้
อาการเหงื่อออกเยอะแบบไม่ทราบสาเหตุ
- มักเกิดขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือไม่กี่ส่วนของร่างกาย เช่น รักแร้ ศีรษะ ฝ่ามือ เท้า
- เหงื่อออกทั้ง 2 ฝั่งของร่างกาย เช่น มือ 2 ข้าง
- เหงื่อออกหลังจากตื่นนอน และทำให้ผ้าปูที่นอนเปียกหรือชื้น
- เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรืออาจบ่อยกว่านั้น
- มีอาการครั้งแรกในช่วงวัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่น
อาการเหงื่อออกเยอะจากภาวะความผิดปกติของร่างกาย
- มีอาการในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่
- ส่วนใหญ่จะมีเหงื่อออกทั่วทั้งตัว หรือเหงื่อออกเฉพาะบางบริเวณแบบไม่สมมาตรกัน
- มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ
เหงื่อออกเยอะ แก้ยังไง
โดยส่วนใหญ่แล้วหากเหงื่อออกเยอะแบบไม่ทราบสาเหตุ ไม่จำเป็นต้องรักษา หากไปหาคุณหมอ อาจได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเหงื่อ เช่น อาบน้ำให้บ่อยขึ้น สวมเสื้อที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่อากาศร้อนจัด แต่หากอาการรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน อาจได้รับการรักษาทางการแพทย์ด้วยวิธีต่อไปนี้
- การใช้ยา เช่น ผลิตภัณฑ์ยาระงับเหงื่อที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียม ยาบล็อกเส้นประสาท ยากล่อมประสาท โบท็อก (ใช้ฉีดบริเวณที่มีต่อมเหงื่อ) การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว แต่อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน และอาจมีผลข้างเคียง เช่น ยาทาภายนอกอาจทำให้ระคายเคืองต่อผิว ยารับประทานอาจทำให้ปากแห้งหรือมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ โบท็อกอาจทำให้เส้นประสาทอ่อนแรงและมีค่าใช้จ่ายสูง
- การบำบัด เช่น การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) การทำพฤติกรรมบำบัด (Behaviour therapy) การทำตามเทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation technique) อาจช่วยลดความวิตกกังวล ลดอาการเหงื่อออกเมื่อตื่นเต้น และช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ตามลำดับ
- ไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) เป็นการรักษาด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าส่งผ่านน้ำเข้าไปในผิวหนัง ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ซึ่งอาจช่วยปิดกั้นการทำงานของต่อมเหงื่อและช่วยให้เหงื่อออกน้อยลง
- การรักษาด้วยคลื่นความถี่ไมโครเวฟ (Microwave therapy) คุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะใช้เครื่องมือที่ปล่อยพลังงานความร้อนเข้าไปทำลายต่อมเหงื่ออย่างถาวรหรือตัดเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของอาการเหงื่อออกผิดปกติ ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น อวัยวะใกล้เคียงเสียหาย เหงื่อออกเยอะที่บริเวณอื่นแทน