backup og meta

ฝีที่รักแร้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ฝีที่รักแร้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ฝีที่รักแร้ คือภาวะอักเสบของรูขุมขนหรือต่อมไขมันบริเวณใต้วงแขน ทำให้เกิดเป็นตุ่มฝี มักจะมีอาการปวด บวม หรือเป็นหนอง โดยปกติแล้ว ฝีที่รักแร้มักแห้งไปเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากฝีที่รักแร้ไม่หายภายในเวลาดังกล่าว หรือขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคอื่น ๆ และอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

[embed-health-tool-bmi]

ฝีที่รักแร้ คืออะไร

ฝี (Boil หรือ Furuncle) เป็นการติดเชื้อที่รูขุมขนหรือต่อมไขมัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ก่อตัวในรูขุมขนและไปผสมเข้ากับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นบวม แดง และมีหนอง หากฝีที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นก้อนหนอง หรือหัวหนองหลาย ๆ หัวติดกัน จะเรียกว่า “ฝีฝักบัว” (Carbuncle) ซึ่งจะยิ่งสร้างความเจ็บปวด รำคาญ และใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน

ฝีที่รักแร้ แสดงอาการอย่างไร

โดยส่วนใหญ่ ฝีที่รักแร้ ประกอบด้วยลักษณะอาการดังนี้

  • มีตุ่มฝี หรือก้อนนูนสีแดงหรือชมพูที่รักแร้
  • เจ็บบริเวณตุ่มฝีที่เกิดขึ้น
  • มีหนองอยู่ด้านในตุ่ม
  • มีไข้
  • รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว
  • คันที่ตุ่ม หรือบริเวณโดยรอบ

ฝีที่รักแร้ มีสาเหตุจากอะไร

การเป็นฝีที่รักแร้เกิดจากรูขุมขนติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสาเหตุเหล่านี้

การโกนขน

รักแร้เป็นแหล่งสะสมเหงื่อและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เมื่อโกนขนรักแร้บ่อย อาจทำให้มีดโกนบาดผิวหนังใต้วงแขนจนเป็นแผลเปิด ส่งผลให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย จึงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น

เหงื่อออกมากเกินไป

หากต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าว หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก แล้วไม่ดูแลทำความสะอาดร่างกายให้ดี โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ อาจทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจากการติดเชื้อโรค เช่น ฝีที่รักแร้ ได้ง่ายขึ้น

ไม่รักษาความสะอาดบริเวณรักแร้

หากไม่ทำความสะอาดบริเวณรักแร้เป็นประจำ อาจทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ผสมรวมกับไขมันหรือเชื้อโรค จนเกิด เป็นฝีที่รักแร้ได้

ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้อย่างเต็มที่ จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ง่าย รวมถึงฝีด้วย นอกจากนี้ ฝีนับเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคภูมิแพ้

แม้ฝีที่รักแร้จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่อาจสร้างความเจ็บปวด และกระทบชีวิตประจำวัน จึงควรหาวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นฝีที่รักแร้

ฝีที่รักแร้ มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง

วิธีป้องกันฝีที่รักแร้อาจทำได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ชำระล้างร่างกายให้สะอาด ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละสองครั้ง เพื่อชำระเหงื่อไคล สิ่งสกปรก และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ซึ่งเป็นแหล่งหมักหมมเหงื่อและคราบไคล
  • หากเป็นแผล ต้องปิดแผลให้สนิท เมื่อมีแผล ควรปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ปิดแผล และควรเปลี่ยนผ้าปิดแผลบ่อย ๆ โดยเฉพาะหากเปียกน้ำ เพื่อให้บริเวณแผลแห้ง สะอาด ลดความเสี่ยงเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล จนกลายเป็นฝีที่รักแร้
  • งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน มีดโกน เสื้อผ้า เพราะหากมีคนใดคนหนึ่งติดเชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส จะทำให้คนอื่น ๆ ที่ใช้ของร่วมกันติดเชื้อนี้ไปด้วย หากเป็นแผล ควรซักเสื้อผ้าและผ้าขนหนูด้วยน้ำร้อนในน้ำสุดท้ายก่อนนำไปตากหรืออบให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ใหม่ รวมทั้ง ควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ฝีที่รักแร้
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรง และสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Boils. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/boils. Accessed July 12, 2022.

Boils and carbuncles. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/boils-and-carbuncles/symptoms-causes/syc-20353770. Accessed July 12, 2022.

Boils (Skin Abscesses). https://www.medicinenet.com/boils/article.htm. Accessed July 12, 2022.

What Are Boils (Skin Abscesses)?. https://www.medicinenet.com/boils/article.htm. Accessed July 12, 2022.

Boils & Carbuncles. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15153-boils-and-carbuncles. Accessed July 12, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ขอบเล็บอักเสบ ประเภท อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา