backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

วิธีรักษาเกลื้อน ด้วยตัวเอง โดยใช้วัตถุดิบใกล้ตัว

วิธีรักษาเกลื้อน ด้วยตัวเอง โดยใช้วัตถุดิบใกล้ตัว

เกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อรา ที่ทำให้เกิดรอยด่างที่มีสีแตกต่างจากสีผิวปกติ ไม่ใช่โรคติดต่อหรืออันตรายแต่อย่างใด และสามารถรักษาเกลื้อนให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา หรือใช้ วิธีรักษาเกลื้อน โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ทั่วไป เช่น เบกกิ้งโซดา กระเทียม สะเดา อย่างไรก็ตาม หากอาการเกลื้อนยังคงไม่หายไปแม้ว่าจะทำการรักษาแล้ว ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางจัดการเกลื้อนที่เหมาะสม

เกลื้อน เป็นอย่างไร

โรคเกลื้อน หรือเกลื้อน (Tinea versicolor) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อราในผิวหนังที่ชื่อ Malassezia ส่งผลให้กระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนังผิดปกติ เกิดเป็นรอยด่างที่มีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติ รอยด่างเกลื้อนมักเกิดขึ้นในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันอยู่มาก อย่างไรก็ตาม โรคเกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือควรรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เกิดการหมักหมม เพื่อป้องกันไม่ให้ เป็นเกลื้อน หรือเป็นโรคผิวหนังอื่น ๆ 

ปัจจัยที่อาจกระตุ้นการเกิดเกลื้อน

เกลื้อนอาจปรากฏขึ้นเมื่อเจอปัจจัยกระตุ้น ดังนี้

  • สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
  • ผิวมัน
  • เหงื่อ
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ปัจจัยเหล่านี้ อาจสามารถเร่งการเจริญเติบโตของเชื้อราบนผิวหนัง แล้วทำให้เกิดเป็นอาการของเกลื้อนได้ในที่สุด

วิธีรักษาเกลื้อน ด้วยตัวเอง

เกลื้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาทาที่มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อราหรือต้านเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) หรือคุณหมออาจสั่งจ่ายเป็นยาเม็ดสำหรับฆ่าเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล  (Itraconazole) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีธรรมชาติในการช่วยรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

1. เบกกิ้ง โซดา 

แม้จะไม่ใช่สารสกัดจากธรรมชาติ แต่เบกกิ้งโซดาก็เป็นวัตถุดิบที่ใช้งานในครัวเรือนอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกับวัตถุดิบจากธรรมชาติอื่น ๆ และถือเป็นวิธีง่าย ๆ วิธีหนึ่งที่สะดวกและเห็นผล เนื่องจากเบกกิ้งโซดามีสภาพเป็นกรด ในขณะที่เชื้อราไม่สามารถอาศัยสภาวะที่เป็นกรดได้ ดังนั้น เบกกิ้งโซดาจึงสามารถช่วยฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังได้ดี โดยสามารถใช้เบกกิ้งโซดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

  • ผสมเบกกิ้งโซดา 2-3 ช้อนชา กับน้ำสะอาดประมาณ 2-3 หยด
  • เมื่อผสมจนเข้ากันแล้วให้นำไปทาบริเวณผิวหนังที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ทำติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน และหมั่นสังเกตอาการ

2. กระเทียม

กระเทียม เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาในการต้านเชื้อราได้เป็นอย่างดี เพราะอุดมไปด้วยสารแอลลิซิน (Allicin) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา สามารถใช้รักษาอาการกลากหรือเกลื้อนได้ดี โดยสามารถใช้กระเทียมในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

  • นำกระเทียมไปตำหรือทุบให้ละเอียด แยกเอาน้ำออก ใช้แต่ส่วนที่เป็นเนื้อละเอียด
  • นำเนื้อกระเทียมที่ตำละเอียดแล้วไปทาพอกผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และหมั่นสังเกตอาการ

3. แอปเปิ้ลไซเดอร์

แอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล มีกรดแอซิติก (Acetic acid) ที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบและการติดเชื้อได้ดี โดยสามารถใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

  • ผสมแอปเปิ้ลไซเดอร์ลงในน้ำสะอาด 1 ถ้วย
  • นำสำลีมาจุ่มแอปเปิ้ลไซเดอร์ที่ผสมน้ำสะอาด จากนั้นนำไปทาผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน 
  • ทำวันละ 2-3 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ

4. สะเดา

สะเดา ผักพื้นบ้านที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริก เพราะสะเดาเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคผิวหนังได้หลายชนิดโดยเฉพาะกลากและเกลื้อน โดยสามารถใช้สะเดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

  • ใช้ใบสะเดาประมาณ 1 กำมือ ปั่นหรือตำผสมกับน้ำสะอาดเล็กน้อยให้ละเอียด
  • นำใบสะเดาที่ปั่นละเอียดมาพอกแปะผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ทำวันละ 3-4 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ

5. ใบชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี จากผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ใน Ethnopharmacology เมื่อปี พ.ศ. 2537 เผยว่า ใบชุมเห็ดเทศมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น กลากหรือเกลื้อนได้ โดยสามารถใช้สะเดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้

  • ใช้ใบชุมเห็ดเทศประมาณ 1 กำมือ ตำผสมกับน้ำมันมะกอกเล็กน้อยให้ละเอียด
  • นำใบชุมเห็ดเทศที่ตำละเอียดมาพอกแปะผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ทำวันละ 2-3 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

โดยทั่วไปแล้ว เป็นเกลื้อน ไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ เพราะโรคเกลื้อนนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย สามารถาซื้อยาครีมฆ่าเชื้อราสำหรับรักษาโรคเกลื้อน ที่ได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรมาใช้ได้เลย 

  • เกลื้อนไม่ลดลงแม้จะได้พยายามรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว
  • เป็นเกลื้อน และหายแล้ว แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง
  • รอยด่างของเกลื้อนขยายเป็นดวงใหญ่ผิดปกติ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tinea versicolor. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tinea-versicolor/symptoms-causes/syc-20378385#:~:text=Tinea%20versicolor%20is%20a%20common,affect%20the%20trunk%20and%20shoulders. Accessed on 21 January, 2021.

Tinea versicolor. (n.d.). hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/dermatology/tinea_versicolor_85,P00320/. Accessed August 27, 2021

Tinea versicolor: Overview. (2014, December 17). ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0076676/. Accessed August 27, 2021

Tinea versicolor: Overview. (n.d.). aad.org/public/diseases/color-problems/tinea-versicolor. Accessed August 27, 2021

Antimicrobial properties of allicin from garlic. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10594976/. Accessed November 24, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา