ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ทางบาดแผลหรือรูขุมขนทำให้ผิวหนังนูนเป็นตุ่มมีหนองอยู่ภายใน วิธีรักษาฝี อาจดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการประคบร้อนและไม่แกะหรือเกาบริเวณที่เป็นฝี แต่หากอาการรุนแรง ควรไปพบคุณหมอซึ่งอาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาต้านแบคทีเรีย หรือผ่าฝีเพื่อระบายหนองออกและทำให้ฝียุบตัว นอกจากนั้น ฝียังป้องกันได้ด้วยการดูแลและรักษาความสะอาดสุขอนามัยของตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ล้างมือสม่ำเสมอ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากเป็นแผลควรล้างแผลและใส่ยา
[embed-health-tool-bmr]
ฝีเกิดจากอะไร
ฝี กิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตปฟิโลคอคคัส อย่างสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus Pyogenes) ซึ่งปกติแบคทีเรียดังกล่าวมักไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นเมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยขีดข่วน หรือรูขุมขน ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นฝีได้
ลักษณะของฝี คือ ตุ่มบวมแดงอมชมพู มีหนองอยู่ข้างใน และมีหัวสีออกเหลือง มักทำให้รู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองเมื่อผิวหนังบริเวณดังกล่าวถูกเสียดสีหรือโดนสัมผัส ฝีอาจเกิดได้ทั้งบริเวณผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และในรูจมูก รวมทั้งฝีภายในร่างกาย โดยเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียจากภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น เมื่อไส้ติ่งแตก แบคทีเรียจะกระจายไปยังช่องท้อง และทำให้เป็นฝีในช่องท้องได้เมื่อเป็นฝี
วิธีรักษาฝี และการดูแลตนเอง
ฝีเม็ดเล็ก หรือฝีที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร อาจหายได้เอง หรือค่อย ๆ แห้งและยุบลงด้วยการดูแลตนเอง ดังนี้
- ประคบร้อนครั้งละ 30 นาที วันละประมาณ 4 ครั้ง
- ไม่แกะ เกา บีบ หรือเค้นเพื่อเอาหนองออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังได้
- ไม่ใช้มีดหรืออุปกรณ์มีคมใด ๆ เจาะบริเวณตรงกลางตุ่มฝี เพราะอาจไปบาดโดนเส้นเลือดที่อยู่ข้างใต้และก่อให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
วิธีรักษาฝี มีอะไรบ้าง
เมื่อเป็นฝี และดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจจ่ายยาต้านแบคทีเรียให้ผู้ป่วยที่เป็นฝี เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) เซฟาเลกซิน (Cephalexin) ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรือด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอสำหรับการรักษาฝี และคุณหมออาจเลือกรักษาฝีด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
- ผ่าฝี เป็นการผ่าตัดเล็ก โดยคุณหมอจะฉีดหรือป้ายยาชาบริเวณรอบ ๆ ฝี แล้วใช้มีดผ่าฝีเพื่อให้หนองไหลออกมา จากนั้นค่อย ๆ ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ แล้วปิดแผลด้วยผ้าพันแผล เพื่อซับหนองที่อาจไหลออกมาเพิ่ม ทั้งนี้ หากหนองไม่ถูกระบายออก ฝีอาจโตขึ้นและแตกเองซึ่งนอกจากทำให้เจ็บปวดแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายหรือเพิ่มโอกาสให้เป็นฝีซ้ำได้
- ระบายหนองภายในร่างกาย (Percutaneous Drainage) สำหรับผู้ที่เป็นฝีภายในร่างกาย คุณหมอจะเริ่มต้นกระบวนการด้วยการวางยาสลบคนไข้ จากนั้นตรวจหาตำแหน่งของฝีด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์หรือเครื่องซีที สแกน (CT Scan) เมื่อเจอแล้ว คุณหมอจะค่อย ๆ ใช้เข็มฉีดยาฉีดผ่านผิวหนังเข้าไปเพื่อดูดหนองออกมา หรือผ่าผิวหนังแล้วสอดสายยางเล็ก ๆ เข้าไปเพื่อให้หนองไหลออกมา
เป็น ฝี เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ผู้ป่วยควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการดังต่อไปนี้
- เม็ดฝีมีขนาดเกิน 1 เซนติเมตร
- เม็ดฝีมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น
- เม็ดฝีเกิดใกล้กับขาหนีบหรือทวารหนัก
- เป็นฝีพร้อมมีไข้สูง
- ผิวหนังใกล้ ๆ เม็ดฝีเป็นเส้นสีแดง ซึ่งหมายถึงเชื้อแบคทีเรียกำลังแพร่กระจาย
วิธีป้องกันการเกิดฝี ทำอย่างไรได้บ้าง
เนื่องจากฝีเกิดจากการที่แบคทีเรียกลุ่มสแตปฟิโลคอคคัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือรูขุมขน การป้องกันฝีจึงเป็นการรักษาความสะอาดของร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อจากแบคทีเรียดังกล่าว ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าเป็นประจำ
- หากเป็นแผลหรือเกิดรอยขีดข่วนตามผิวหนัง ควรดูแลรักษาความสะอาด ด้วยการล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือปิดแผลด้วยผ้าพันแผล
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า มีดโกนหนวด
- โกนขนรักแร้หรือขนหัวหน่าวอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันมีดโกนบาดจนอาจเกิดแผลและติดเชื้อได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง