backup og meta

ฝีที่อวัยเพศหญิง สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/01/2024

    ฝีที่อวัยเพศหญิง สาเหตุ อาการ การรักษา

    ฝีที่อวัยเพศหญิง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุนั้นคือ ฝีต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s abscess) เกิดจากการอุดตันของต่อมบาร์โธลินที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดทั้ง 2 ข้าง ทำให้ต่อมบาร์โธลินขยายใหญ่ขึ้น ร่วมกับมีการติดเชื้อ ทำให้มีลักษณะเป็นฝี และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ ปวดบวมบริเวณอวัยวะเพศ อาการระคายเคืองระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รู้สึกไม่สบายตัวขณะเดิน วิ่ง หรือนั่ง

    คำจำกัดความ

    ฝีที่อวัยวะเพศหญิง คืออะไร

    ฝีที่อวัยเพศหญิง หรือ ฝีต่อมบาร์โธลิน คือ การที่ต่อมบาร์โธลิน ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่หลั่งน้ำหล่อลื่นภายในช่องคลอด เพื่อช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้น และลดความระคายเคืองขณะมีเพศสัมพันธ์ มีการอุดตันทำให้น้ำหล่อลื่นที่ต่อมผลิตไม่สามารถหลั่งออกมาได้ ทำให้ต่อมขยายใหญ่ขึ้น และรู้สึกไม่สบายตัวขณะเคลื่อนไหวแต่มักไม่ส่งผลอันตราย อย่างไรก็ตามหามีการติดเชื้อจะทำให้กลายเป็นฝีที่อวัยวะเพศหญิง โดยสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้หลายครั้ง

    อาการ

    อาการฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    ฝีที่อวัยวะเพศหญิง หากไม่มีการติดเชื้อ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

    • อาการบวมเป็นก้อนที่บริเวณปากช่องคลอดข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
    • อาการไม่สบายตัวขณะเคลื่อนไหวหรือมีเพศสัมพันธ์

    หากต่อมบาร์โธลินเกิดการติดเชื้อ อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

    • มีไข้
    • หนาวสั่น
    • เจ็บปวดช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • เคลื่อนไหวลำบาก
    • อาจมีหนองไหลออกจากมา

    ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากสังเกตว่ามีการอาการเจ็บปวดช่องคลอด หรือพบก้อนนูนขึ้นใหม่หลังจากรักษาหาย เพราะสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้

    สาเหตุ

    สาเหตุของฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    ฝีที่อวัยวะเพศหญิง มีสาเหตุมาจากของเหลวอุดตันในต่อมบาร์โธลิน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรียอีโคไล (E. coli) เชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) เชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    ปัจจัยเสี่ยงของฝีที่อวัยวะเพศหญิง มีดังนี้

    • อายุระหว่าง 20-30 ปี
    • เคยมีประวัติเป็นฝีที่อวัยวะเพศหญิงหรือต่อมบาร์โธลินอักเสบมาก่อน
    • เคยผ่าตัดช่องคลอดหรือบริเวณแคมช่องคลอด
    • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    วิธีการวินิจฉัยฝีที่อวัยวะเพศหญิง มีดังนี้

    • คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพและประวัติการรักษาเบื้องต้น
    • ตรวจอุ้งเชิงกราน
    • เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือบริเวณปากมดลูก เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • ตรวจหาเซลล์มะเร็ง

    การรักษาฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    การรักษาฝีที่อวัยวะเพศหญิง อาจทำได้ดังนี้

    • แช่น้ำอุ่น การแช่น้ำในอ่างน้ำอุ่น วันละหลาย ๆ ครั้ง เป็นเวลา 3-4 วัน อาจช่วยให้ของเหลวในฝีที่อวัยวะเพศระบายออกได้ไวขึ้นและช่วยลดขนาดของฝี
    • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ฝีมีการติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่หากมีการระบายของเหลวอย่างถูกต้อง อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
    • การใส่สายสวน เหมาะสำหรับผู้หญิงที่เป็นฝีขนาดใหญ่และมีการติดเชื้อ โดยคุณหมอจะทำการกรีดฝีที่อวัยวะเพศ และใส่สายสวนเพื่อระบายของเหลวที่อยู่ภายในฝีออกจนหมด ทำให้ฝีมีขนาดเล็กลง
    • การเลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงเปิดช่องระบายของเหลวที่อยู่ในฝีที่อวัยวะเพศ
    • การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ หรือมีฝีขนาดใหญ่คุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าตัดฝีออกทั้งหมด เพื่อป้องกันการอักเสบและการติดเชื้อรุนแรง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฝีที่อวัยวะเพศหญิง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฝีที่อวัยวะเพศหญิง อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด และซับอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้งหลังจากขับถ่าย โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทวารหนัก
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • เช้ารับการตรวจคัดกรองโรคประจำปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา