backup og meta

โรคไฟลามทุ่ง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

โรคไฟลามทุ่ง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

โรคไฟลามทุ่ง คือ ภาวะที่ผิวหนังชั้นผิวหนังแท้ติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นอย่างรุนแรง เกิดเป็นผื่นแดงที่มีขอบเขตชัดเจน และมีอาการปวด บวม แสบร้อนร่วมด้วย อาการอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณใกล้เคียงอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง มักเกิดในเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อหลังตัดสายสะดือ ผู้ที่มีแผลหรือรอยถลอก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากทิ้งไว้ไม่รักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้การติดเชื้อลุกลามและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

[embed-health-tool-bmr]

โรคไฟลามทุ่ง คืออะไร

โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) คือ ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นผิวหนังแท้อย่างรุนแรง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) โดยเฉพาะเชื้อสเตรปโตคอคคัส ไพโอเจน (Streptococcus pyogenes) ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปบนร่างกาย แบคทีเรียชนิดนี้จะก่อให้เกิดโรคเมื่อเข้าไปในเนื้อเยื่อผิวหนังและปล่อยสารพิษที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ และเกิดผื่นแดงที่มีขอบชัดเจน รวมกับมีอาการปวด บวม แสบร้อน บริเวณแขน ขา รวมถึงที่บริเวณใบหน้า

หากไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ที่ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อตายหรือเปลี่ยนเป็นผื่นสีดำ หรืออาจติดเชื้อรุนแรงจนเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากชั้นผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต ลิ้นหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สำหรับทารกแรกเกิด อาการติดเชื้อที่ผิวหนังของโรคไฟลามทุ่งอาจเกิดที่บริเวณท้อง เนื่องจากมักเกิดการติดเชื้อที่สะดือหลังการตัดสายสะดือ ส่วนเด็กและผู้ใหญ่มักมีอาการที่ใบหน้า แขน และขาเป็นหลัก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไฟลามทุ่ง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไฟลามทุ่ง มีดังนี้

  • ผู้ที่เคยเป็นโรคไฟลามทุ่งมาก่อน
  • โรคผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง การติดเชื้อราที่เท้า โรคสะเก็ดเงิน โรคน้ำกัดเท้า
  • บาดแผลบนผิวหนัง เช่น แผลผ่าตัด แผลหกล้ม แผลจากแมลงกัดต่อย
  • ผิวหนังบอบบางจากการรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy)
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ดี หรือหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous insufficiency)
  • โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • การติดเชื้อที่ช่องจมูก
  • ผู้สูงอายุ
  • การตั้งครรภ์

อาการของโรคไฟลามทุ่ง

อาการของโรคไฟลามทุ่ง อาจมีดังนี้

  • มีผื่นแดง บวม คล้ายเปลือกส้ม
  • สัมผัสที่ผื่นแล้วรู้สึกแสบร้อน
  • มีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ
  • มีไข้สูง
  • ปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • อาเจียน

ภาวะแทรกซ้อนของ โรคไฟลามทุ่ง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไฟลามทุ่งมักเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เชื้อลุกลามรุนแรง อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังลิ้นหัวใจ กระดูก และข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เนื้อเน่าตาย เกิดจากแบคทีเรียทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนตายจนทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลง
  • โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Post-streptococcal glomerulonephritis) เป็นภาวะติดเชื้อที่มักเกิดขึ้นในเด็กหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียแล้วเชื้อลุกลามและแพร่กระจายไปสู่ไต
  • เส้นเลือดขอดอักเสบ (Thrombophlebitis) ทำให้เกิดอาการแสบร้อน ปวดบวม ตามแนวเส้นเลือดขอด
  • ขาบวมเรื้อรัง การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาบวมเรื้อรังได้
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เกิดจากแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อ

การรักษาโรคไฟลามทุ่ง

การรักษาโรคไฟลามทุ่งด้วยวิธีดังต่อไปนี้ประมาณ 10-14 วัน อาจช่วยให้อาการค่อย ๆ ทุเลาลงได้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เช่น ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) เซฟาเล็กซิน (Cephalexin) คลินดามัยซิน (Clindamycin) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ
  • ประคบเย็นบริเวณแผลและใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดบวมเฉพาะที่

วิธีป้องกัน โรคไฟลามทุ่ง

การป้องกันโรคไฟลามทุ่ง อาจทำได้ดังนี้

  • ดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อบำรุงผิวเป็นประจำ
  • ระวังไม่ให้ผิวแห้ง พยายามอย่าให้เกิดบาดแผลหรือรอยถลอก เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ ควรดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ ด้วยการล้างมือเป็นประจำ ใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือ ทาครีมบำรุงผิวบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการแกะเกาแผลบนผิวหนัง
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน ตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
  • อย่าให้เท้าอับชื้น ไม่เดินเท้าเปล่าในบริเวณที่ทำให้เสี่ยงเกิดแผลที่เท้า
  • สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Erysipelas?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-is-erysipelas#:~:text=Erysipelas%20is%20a%20common%20bacterial,skin%2C%20followed%20by%20bacterial%20invasion. Accessed August 8, 2022

Erysipelas. https://dermnetnz.org/topics/erysipelas. Accessed August 8, 2022

ชวนระวัง ป้องกันโรคไฟลามทุ่ง. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1476. Accessed August 8, 2022

Erysipelas and cellulitis: Overview. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK303996/. Accessed August 8, 2022

Erysipelas. https://rarediseases.org/rare-diseases/erysipelas/. Accessed August 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแพ้ มีสาเหตุจากอะไร เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังชนิดใดบ้าง

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา