โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus หรือ SLE) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายเหมือนกับการทำลายเชื้อโรค จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง โดยอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ฮอร์โมนและสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นอาการ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นบนใบหน้าและร่างกาย ผิวไวต่อแสง ร่วมทั้งอาการทางร่างกายอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดข้อ ปวดหัว มึนงง เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบ
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
โรคพุ่มพวง คืออะไร
โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง คือ โรคภูมิต้านทานตนเองชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ เข้าทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อที่แข็งแรงในร่างกายเหมือนกับการทำลายเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ส่งผลให้เซลล์ เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในถูกทำลายจนเกิดการอักเสบ และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แผลในช่องปาก ผมร่วง เหนื่อยล้า มีไข้ ปวดข้อ ผื่นบริเวณใบหน้าและร่างกาย
โรคพุ่มพวงพบบ่อยแค่ไหน
โรคพุ่มพวงมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาจพบมากในผู้ที่มีอายุประมาณ 15-45 ปี เนื่องจากผู้หญิงโดยเฉพาะในช่วงวัยเจริญพันธุ์อาจมีฮอร์โมนที่แปรปรวนบ่อย ทำให้ร่างกายอ่อนแอง่ายและระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนกระตุ้นให้อาการของโรคพุ่มพวงกำเริบขึ้น
อาการ
อาการของโรคพุ่มพวง
อาการของโรคพุ่มพวงที่พบบ่อย อาจมีดังนี้
- เหนื่อยล้า มีไข้
- เจ็บหน้าอก หายใจถี่
- ปวดข้อ ตึงและบวม
- ตาแห้ง แผลในช่องปาก ผมร่วง
- ปวดหัว มึนงง สับสนหรือสูญเสียความทรงจำ
- ผื่นลุกลามบริเวณแก้ม สันจมูกหรือเกิดขึ้นบริเวณอื่น ๆ ทั่วร่างกาย
- มีผื่นหรือรอยโรคเกิดขึ้นบนผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด
- นิ้วมือและนิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีน้ำเงินเมื่อสัมผัสกับความหนาวเย็นหรือความเครียด
ควรเข้าพบคุณหมอหากผู้ป่วยมีผื่นขึ้นลุกลาม มีไข้เป็นเวลานาน มีอาการปวดข้อและเหนื่อยล้ารุนแรง
สาเหตุ
สาเหตุของโรคพุ่มพวง
โรคพุ่มพวงเป็นโรคภูมิต้านทางตัวเองชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เข้าทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อที่แข็งแรงเหมือนกับการทำลายเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ฮอร์โมนหรืออาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนก่อให้เกิดการกำเริบของโรคพุ่มพวง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคพุ่มพวง
โรคพุ่มพวงอาจมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรค ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่อไปนี้
- การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้อาการของโรคพุ่มพวงกำเริบขึ้นได้
- แสงแดด การสัมผัสกับแสงแดดที่มากเกินไปหรือเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและผิวอ่อนแอลงจนกระตุ้นให้เกิดโรคพุ่มพวงได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิต ยาต้านอาการชัก ยาปฏิชีวนะ อาจกระตุ้นให้ฮอร์โมนหรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งโดยปกติเมื่อหยุดใช้ยาอาการของโรคพุ่มพวงจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- เพศ โรคพุ่มพวงพบบ่อยในเพศหญิง เนื่องจากผู้หญิงอาจมีช่วงที่ฮอร์โมนแปรปรวนและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ฮอร์โมนแปรปรวนมาก จนอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคพุ่มพวง
- อายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-45 ปี เป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ฮอร์โมนอาจเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการกำเริบได้
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบจากโรคพุ่มพวง อาจมีดังนี้
- โรคไต โรคพุ่มพวงอาจทำให้ไตถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตได้
- ปัญหาของเลือดและหลอดเลือด โรคพุ่มพวงอาจทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง อาจเสี่ยงในการตกเลือด การแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น และอาจทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดได้
- ปัญหาของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้มีอาการปวดหัว เวียนหัว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง สูญเสียความจำ มีปัญหาในการมองเห็น หรืออาจรุนแรงจนเกิดอาการชักและเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ปัญหาหัวใจ อาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดแดง หรือเยื่อหุ้มหัวใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคหัวใจวายได้
- โรคปอด อาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องอก มีอาการหายใจลำบาก เลือดออกในปอดและปอดบวมได้
- การติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติจึงอาจติดเชื้อได้ง่าย
- เนื้อเยื่อกระดูกตาย อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเลือดไปเลี้ยงกระดูกลดลง จนอาจทำให้กระดูกแตกร้าวและปวดข้อ
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยโรคพุ่มพวง
โรคพุ่มพวงอาจทำการวินิจฉัยได้ยากเนื่องจากมีอาการที่แตกต่างกันในแต่ละคน และอาจมีอาการที่คล้ายกับความผิดปกติของโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน จึงควรเข้าพบคุณหมอหากมีอาการผื่นลุกลามบนใบหน้า มีไข้เป็นเวลานานและปวดข้อ เพื่อทำการทดสอบด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจสอบอาการที่แสดงออกทางร่างกายอื่น ๆ ดังนี้
การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ
- การนับเม็ดเลือด เพื่อตรวจสอบจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดและปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนของเม็ดเลือดแดง หากพบว่ามีภาวะโลหิตจางหรือเม็ดเลือดขาวต่ำอาจแสดงว่าเป็นโรคพุ่มพวง
- การตรวจอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง หากพบว่าเม็ดเลือดแดงตกตะกอนเร็วกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง ติดเชื้อ หรือมีอาการอักเสบอื่น ๆ
- การตรวจไตและตับ เพื่อดูการทำงานของไตและตับ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคพุ่มพวงมักมีการทำงานของไตและตับที่ผิดปกติ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณโปรตีนของเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ เนื่องจากไตของผู้ที่เป็นโรคพุ่มพวงมักทำงานผิดปกติจนอาจมีปริมาณของโปรตีนเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
การตรวจสอบด้วยภาพถ่าย
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูของเหลวหรือการอักเสบของปอด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจดูการเต้นของหัวใจ ปัญหาของลิ้นหัวใจและความผิดปกติอื่น ๆ ของหัวใจ
การตรวจชิ้นเนื้อ
เป็นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของไตหรือผิวหนัง เพื่อทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการ เนื่องจากโรคพุ่มพวงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ผิดปกติของไตและสภาพผิวหนังที่ผิดปกติ การรักษาโรคพุ่มพวง
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการแสดงอาการของโรค โดยคุณหมออาจต้องประเมินอาการก่อนที่จะสั่งยาหรือทำการรักษา ดังนี้
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งอาจช่วยรักษาอาการปวด บวม และมีไข้
- ยาต้านมาเลเรีย เช่น ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquin) ซึ่งอาจช่วยรักษาระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพุ่มพวง
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น เพรดนิโซนโลน (Prednisolone) เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) ซึ่งอาจช่วยต้านการอักเสบและใช้เพื่อควบคุมโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของไตและสมอง
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ไมโคฟีโนเลตโมฟีทิล (Mycophenolate Mofetil) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เลฟลูโนไมด์ (Leflunomide) มักใช้ในกรณีที่เป็นโรคพุ่มพวงขั้นร้ายแรง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับโรคพุ่มพวง
การดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับโรคพุ่มพวงและช่วยบรรเทาอาการของโรค อาจมีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี ส่งเสริมให้กระดูกแข็งแรง ลดอาการปวดข้อ ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวาย
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นการรับประทานโปรตีน ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะวิตามินดีและแคลเซียม ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง และควรจำกัดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย ปัญหาในทางเดินอาหาร
- ปกป้องผิวจากแสงแดด เนื่องจากผิวของผู้ที่เป็นโรคพุ่มพวงอาจไวต่อแสงแดด จึงควรหลีกเลี่ยงการออกไปเจอกับแสงแดดจัด หรือหากต้องออกไปข้างนอกควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป และใส่หมวกหรือเสื้อแขนยาวทุกครั้ง
- ไม่ควรสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและส่งผลเสียต่อสุขภาพผิว รวมทั้งอาจกระตุ้นให้อาการของโรคพุ่มพวงแย่ลงได้
- พบคุณหมอเป็นประจำ เพื่อตรวจร่างกายและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการได้อีกด้วย