โรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น เกิดจากการหมักหมกบริเวณอวัยวะเพศจนกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รวมทั้งการทำความสะอาดที่ไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดโรคผิวหนังตามมา เนื่องจากจุดซ่อนเร้นเป็นบริเวณผิวหนังที่ค่อนข้างบอบบางและอับชื้นได้ง่าย ควรได้รับการดูแลทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาผิวหนังและโรคอื่น ๆ
[embed-health-tool-ovulation]
โรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น ที่พบบ่อย คืออะไร
โรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นที่พบได้บ่อย และควรระวัง มีดังนี้
1. โรคซิฟิลิส
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ จนก่อให้เกิดแผลเล็ก ๆ หรือผื่นบนผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่องคลอด และทวารหนัก บางกรณีอาจส่งผลปรากฏเป็นผื่นขึ้นปกคลุมทั่วร่างกาย ริมฝีปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
การรักษา คุณหมออาจวินิจฉัยก่อนว่าป่วยเป็นโรคซิฟิลิสในระยะใดจึงจะสามารถแนะนำยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมสำหรับระยะของโรคและอาการได้ ส่วนใหญ่แล้วผื่นซิฟิลิสมักหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่เชื้อจะยังสะสมอยู่ในร่างกาย และโรคจะพัฒนาเข้าสู่ระยะถัดไปแล้วแสดงอาการออกมาในรูปแบบผื่นที่แตกต่างออกไป หรือในบางคนไม่มีอาการอีกเลยแต่เชื้อก็ยังคงอยู่
แม้จะรักษาโรคซิฟิลิสหายแล้ว อาการก็อาจกำเริบได้อีก โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ด้วยการสวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์
2. โรคเริม
เชื้อไวรัสเริมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด โดยชนิดที่ 1 คือ เริมในช่องปาก และชนิดที่ 2 คือ เริมที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือจุดซ่อนเร้น เริมทั้ง 2 ชนิดอาจได้รับมาจากสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อไวรัส ก่อให้เกิดเป็นแผลพุพองรอบ ๆ จนทำให้รู้สึกเจ็บแสบอย่างมาก
การรักษา ถึงจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ แต่คุณหมอสามารถจ่ายยาที่ทำให้ผื่นหายได้ เช่น ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) และวาลเทร็กซ์ (Valtrex)
3. กลาก
สาเหตุโรคกลากอาจมาจากการติดเชื้อราบริเวณจุดซ่อนเร้น ทำให้ปรากฏเป็นปื้นสีแดงที่มีขุยเล็ก ๆ และมีขอบแดงยกขึ้น นอกจากนี้ เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากยังพบได้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็นใบหน้า แขน ขา ลำตัว เท้า ศีรษะ
การรักษา หากเป็นกลากบริเวณจุดอับชื้นอื่น ๆ อย่าง ขาหนีบ ข้อพับ สามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานได้ตามที่คุณหมอสั่ง พร้อมกับงดเกาหรือสัมผัสบริเวณที่ติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงความอับชื้น
4. หูด
หูดเกิดจากไวรัสตระกูลเอชพีวี (HPV-Human Papillomavirus) ซึ่งแพร่กระจายและเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น อาจส่งผลร้ายแรงต่อเพศหญิง นำไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอดได้หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รักษาอย่างทันท่วงที
การรักษา คุณหมออาจกำจัดหูดด้วยการใช้ยาที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หากยังไม่ผล อาจจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดด้วยการใช้ความเย็นเพื่อทำลายเซลล์ หรือผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนหูดออกไปแทน ทั้งนี้ คุณหมอจะวินิจฉัยจากสภาพหูดและประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสม
วิธีดูแลตนเองลดโอกาสเสี่ยงโรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น
จุดซ่อนเร้นควรได้รับการใส่ใจและทำความสะอาดเพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น ดังนี้
- หมั่นทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นเป็นประจำทุกวัน
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง และควรสัมผัสอย่างเบามือ ไม่ควรเช็ดหรือล้างรุนแรงเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- สวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- หากเกิดอาการผิดปกติ รู้สึกคัน หรือพบผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นมีอาการแสบ ระคายเคืองควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ
นอกจากนี้ หากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นไม่ว่ากับผิวหนังในส่วนใด โปรดเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอในทันที เพื่อยับยั้งและป้องกันอาการรุนแรงที่อาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย