ไตวายเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถกำจัดเกลือส่วนเกิน ของเหลว และของเสียจากเลือดอย่างกะทันหัน เมื่อไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสีย ของเหลวในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตราย
คำจำกัดความ
โรคไตวายเฉียบพลัน คืออะไร
ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure) สามารถเรียกได้อีกว่า ไตเสียหายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) หรือภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Renal Failure) เกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถกำจัดเกลือส่วนเกิน ของเหลว และของเสียจากเลือด อย่างกะทันหัน ซึ่งการกำจัดสารพิษจากร่างกายเป็นหน้าที่กาารทำงานหลักของไต เมื่อไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสีย ของเหลวในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตราย ภาวะดังกล่าวยังทำให้อิเล็กโตรไลต์และของเสียสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตอีกด้วย
ภาวะไตวายเฉียบพลันเป็นอันตรายต่อชีวิต และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดี สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากผู้ป่วยมีสุขภาพดี ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ด้วยดี
โรคไตวายเฉียบพลัน พบบ่อยเพียงใด
พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล อาการอาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลา 2-3 วัน จนถึงหลายสัปดาห์ ผู้ที่มีอาการป่วยหนัก และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดไตวายเฉียบพลัน โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการไตวายเฉียบพลัน
อาการทั่วไปของภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้แก่
- อุจจาระมีเลือดปน
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- เคลื่อนไหวช้าและเฉื่อยชา
- มีอาการบวมทั่วไปหรือมีภาวะคั่งน้ำ
- อ่อนเพลีย
- มีอาการปวดระหว่างซี่โครงและสะโพก
- เป็นแผลฟกช้ำได้ง่าย
- สภาวะทางจิตหรืออารมณแปรปรวน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ความอยากอาหารลดลง
- ความรู้สึกลดลง โดยเฉพาะที่มือหรือเท้า
- เลือดหยุดช้า
- มีอาการชัก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ความดันโลหิตสูง
- รู้สึกถึงรสชาติของโลหะในปาก
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน
ภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้มากที่สุด ได้แก่
- ภาวะไตวายเฉียบพลันที่เกิดจากพยาธิสภาพที่เซลล์ของ หลอดไต (Acute tubular necrosis: ATN)
- ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงหรือกะทันหัน
- ภาวะไตเป็นพิษจากสารพิษหรือยาบางชนิด
- โรคไตภูมิต้านทานตนเอง เช่น ไตอักเสบเฉียบพลัน และภาวะไตวายที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อไตในส่วนอินเตอร์สติเชียม (interstitium)
- ท่อปัสสาวะอุดตัน
การที่กระแสเลือดหล่อเลี้ยงไตลดลง ก็สามารถทำให้ไตเกิดความเสียหายได้ ซึ่งมีสาเหตุจากอาการดังต่อไปนี้
- ความดันโลหิตต่ำ
- รอยไหม้
- ภาวะขาดน้ำ
- ภาวะตกเลือด
- มีบาดแผล
- ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ
- มีอาการป่วยรุนแรง
- การผ่าตัด
อาการผิดปกติบางประการสามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงไต และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งได้แก่
- กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย
- โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน
- ความดันโลหิตสูงมาก
- การให้เลือดผิดหมู่
- ผิวหนังหนาและแข็งตัว
การติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด และกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน สามารถทำให้ไตเสียหายไดโดยตรง นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ยังทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อไตได้ เช่น รกเกาะต่ำ และรกลอกตัวก่อนกำหนด
ปัจจัยความเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคตับ
โอกาสในการเป็นไตวายเฉียบพลันมีมากขึ้นในผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ดังต่อไปนี้
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคเบาหวาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมอาการไม่ได้
- ความดันโลหิตสูง
- หัวใจล้มเหลว
- โรคอ้วน
ผู้ที่กำลังป่วยหรือกำลังเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูในโรงพยาบาล จะมีความเสี่ยงสูงมากสำหรับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน นอกจากนี้ การเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ การผ่าตัดช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกก็ยังเพิ่มความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยไตวายเฉียบพลัน
ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไตวายเฉียบพลันอาจมีอาการบวมทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอาการบวมจากภาวะคั่งน้ำ
การวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจ โดยแพทย์จะได้ยินเสียงในปอด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะคั่งน้ำ การวินิจฉัยยังสามารถยืนยันได้ด้วยผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการซึ่งแสดงค่าที่ผิดปกติ แตกต่างจากระดับพื้นฐาน โดยมีวิธีทดสอบหลายประการ ได้แก่
- การตรวจวัดค่า Blood urea nitrogen (BUN)
- การตรวจวัดค่า Serum potassium
- การตรวจวัดค่า Serum sodium
- อัตราการกรองของไตโดยประมาณ (Estimated glomerular filtration rate: eGFR))
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
- การตรวจการทำงานของไต (Creatinine clearance)
- การตรวจวัดค่าครีเอตินิน (Serum creatinine)
การตรวจอัลตราซาวด์เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมในการวินิจฉัยไตวายเฉียบพลัน อย่างไรก็ดี การเอ็กซเรย์ช่องท้อง การตรวจช่องท้องด้วยซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอ สามารถช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่า มีการอุดตันที่ท่อปัสสาวะหรือไม่ การตรวจเลือดก็เผยให้เห็นสาเหตุพื้นฐานของภาวะไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน
การรักษา
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลัน มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูการทำงานของไต และป้องกันไม่ให้ของเหลวและของเสียก่อตัวขึ้นในร่างกายระหว่างการฟื้นฟูของไต ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาไตที่เรียกว่า “นักวักกวิทยา’ จะทำการประเมินร่างกายก่อนดำเนินการรักษาในขั้นตอนต่อไปนี้
อาหาร
แพทย์จะจำกัดอาหารและปริมาณของเหลวที่ดื่ม เพื่อช่วยลดการก่อตัวของสารพิษในร่างกาย แพทย์มักแนะนำอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และมีโปรตีน เกลือ และโพแทสเซียมต่ำ
การใช้ยา
แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาหรือป้องกันอาการติดเชื้อใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ส่วนยาขับปัสสาวะจะช่วยให้ไตขับปัสสาวะได้ดีขึ้น ขณะที่แคลเซียมและอินซูลินถูกนำมาใช้ควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงที่อาจเป็นอันตรายได้
การฟอกไต
ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการฟอกไต แต่ไม่จำเป็นเสมอไป และอาจจำเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น การฟอกไตเป็นการผันเลือดออกจากร่างกายไปยังเครื่องมือที่ช่วยกรองของเสีย เลือดที่สะอาดแล้วจะถูกลำเลียงกลับเข้าสู่ร่างกาย หากระดับโพแทสเซียมสูงถึงขั้นอันตราย การฟอกไตจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
การฟอกไตเป็นสิ่งจำเป็นหากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาวะทางจิตและปัสสาวะไม่ออก หรือหากมีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออาการอักเสบของหัวใจ โดยการฟอกไตจะสามารถช่วยกำจัดของเสียประเภทไนโตรเจนจากร่างกาย
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับภาวะไตวายเฉียบพลัน
ในระหว่างที่ร่างกายกำลังฟื้นตัวจากภาวะจากไตวายเฉียบพลัน แพทย์อาจแนะนำอาหารพิเศษเพื่อช่วยบำรุงไตและจำกัดการทำงานของไต โดยแพทย์อาจส่งต่อผู้ป่วยไปยังนักโภชนาการที่สามารถวิเคราะห์การรับประทานอาหารในปัจจุบันของผู้ป่วยและแนะนำวิธีการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อไตตามสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละคน โดยนักโภชนาการอาจให้คำแนะนำดังนี้
- เลือกอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิ้ล กะหล่ำปลี ถั่วเขียว องุ่น และสตรอเบอรี่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ กล้วย ส้ม มันฝรั่ง ผักโขม และมะเขือเทศ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้เกลือ ควรลดปริมาณโซเดียมที่รับประทานในแต่ละวัน ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้เกลือ ซึ่งได้แก่ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ อาหารแช่แข็ง ซุปกระป๋อง อาหารฟาสต์ฟูด นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่ใช้เกลืออื่นๆ ได้แก่ อาหารว่างที่มีรสเค็ม ผักกระป๋อง เนื้อสัตว์แปรรูป และเนยแข็ง
- จำกัดการบริโภคฟอสฟอรัส ซึ่งพบในอาหารชนิดต่างๆ เช่น นม เนยแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง และเนยถั่ว การมีปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดมากเกินไปจะทำให้กระดูกอ่อนแอและทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง นักโภชนาการจะให้คำแนะนำเฉพาะแก่คุณผู้ป่วยเกี่ยวกับฟอสฟอรัสและวิธีการจำกัดฟอสฟอรัสเป็นรายบุคคล
ในขณะที่ไตฟื้นตัว ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารพิเศษอีกต่อไป ถึงแม้ว่าการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ยังคงมีความสำคัญ หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด