ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease หรือ IBD) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในลำไส้และระบบทางเดินอาหารที่มีการอักเสบสะสมติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานจนอาการเข้าขั้นเรื้อรัง
คำจำกัดความ
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง คืออะไร
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease หรือ IBD) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีการอักเสบสะสมติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานจนอาการเข้าขั้นเรื้อรัง
เราสามารถจำแนก โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) คืออาการทางสุขภาพที่มีการอักเสบและเป็นแผลตามเยื่อบุของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease) คืออาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนในระบบทางเดินอาหาร แต่โดยมากแล้ว โรคโครห์นมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้ส่วนปลาย โดยจะเริ่มตั้งแต่ลำไส้เล็ก ไปยังลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก
อาการของ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทั้งสองประเภทนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือในบางกรณีก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง พบได้บ่อยแค่ไหน
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็เสี่ยงที่จะเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นลำไส้อักเสบเป็นประจำมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง
อาการ
อาการของ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ผู้ที่เป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
- มีอาการปวดท้อง
- มีเลือดออกทางทวารหนัก หรืออุจจาระมีเลือดปน
- น้ำหนักลด
- ร่างกายอ่อนเพลีย
ในผู้ป่วย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง บางราย อาจมีอาการภายนอกร่วมด้วย ได้แก่
- ตาอักเสบ
- มีความผิดปกติที่ผิวหนัง
- มีอาการข้ออักเสบ
ผู้ป่วย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง บางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง จะไม่อันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในบางกรณีหากมีภาวะแทรกซ้อนก็เสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตได้เช่นกัน หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีอาการท้องเสียติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรไปพบคุณหมอ
สาเหตุ
สาเหตุของลำไส้อักเสบเรื้อรัง
แพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ปกป้องเซลล์และต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย แต่ในผู้ป่วยที่เป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาจพบว่าระบบภูมิคุ้มกันมีการทำงานบกพร่อง และหันมาทำลายเซลล์ในระบบทางเดินอาหารด้วยกันเอง จนเกิดการอักเสบขึ้นในระบบทางเดินอาหาร
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของลำไส้อักเสบเรื้อรัง
มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจก่อให้เกิด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้แก่
- อายุ ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคลำไส้อักเสบมักจะอยู่ในช่วงวัยก่อนอายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่มีอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเลยจนกระทั่งอายุ 50-60 ปี
- ชาติพันธุ์ แม้ว่าโรคลำไส้อักเสบจะสามารถเกิดได้กับคนทุกชาติพันธุ์ แต่ชาติพันธุ์ในกลุ่มคอเคเซียน (Caucasian) หรือชาวยิวอัชเคนาซิ (Ashkenazi Jews) มีแนวโน้มของความเสี่ยงที่สูงกว่า
- ระบบพันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาจเป็นไปได้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังด้วย
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นประจำเสี่ยงที่จะทำให้เกิด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ในกลุ่มของโรคโครห์น (Crohn’s Disease)
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ในการวินิจฉัย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหารหรือในลำไส้ เพื่อตรวจหาจุดที่เกิดการอักเสบหรือเป็นแผล หรือทำการเอ็กซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หรืออาจทำการตรวจจากตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือตรวจจากเลือดเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อและยืนยันผลการวินิจฉัย
การรักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง
หลังจากที่มีการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
รักษาโดยการรับประทานยา
โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาที่มีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งใช้สำหรับการรักษาลำไส้อักเสบโดยเฉพาะ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อะมิโนซาลิไซเลต (Aminosalicylate) หรืออาจเป็นยาเพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) เมอร์แคปโทเพียวรีน (Mercaptopurine)
รักษาโดยการผ่าตัด
ในผู้ป่วยบางรายที่การรับประทานยาไม่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีเท่าที่ควร แพทย์อาจมีการวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น
- การผ่าตัดเพื่อรักษาลำไส้อักเสบ โดยทำการผ่าตัดบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคโครห์น (Crohn’s Disease) โดยทำการผ่าตัดบริเวณที่มีการอักเสบของลำไส้ เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับลำไส้อักเสบเรื้อรัง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ดีขึ้น
- รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมพอประมาณ เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายมีอาการแพ้แลคโตส จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนม เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย อยู่บ่อย ๆ จนกลายเป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- รับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ โดยอาจจะแบ่งรับประทานหลายมื้อ เพื่อไม่ให้ระบบทางเดินอาหารต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะในมื้อที่รับประทานเป็นมื้อใหญ่
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย
- รับประทานอาหารเสริม ในผู้ป่วยที่เป็นโรคโครห์นแพทย์อาจมีการสั่งจ่ายยาหรืออาหารเสริมวิตามินรวมเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เนื่องจากโรคโครห์นมักจะรบกวนการดูดซึมสารอาหาร
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคโครห์น หากเป็นไปได้ควรเลิกสูบบุหรี่
[embed-health-tool-bmr]