ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปีแต่ผู้หญิงบางคนอาจจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี เนื่องจากสาเหตุทางพันธุกรรม ความเจ็บป่วย หรือสภาวะอื่น ๆ การหมดประจำเดือนในช่วงวัยก่อนอายุ 40 ปีนี้ จะถือว่าเป็น ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature Menopause)
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร คืออะไร
การหมดประจำเดือนเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงทุกคนต้องเจอ เมื่อวงจรการมีประจำเดือนหยุดลง ทั้งนี้ หากไม่มีรอบเดือนเป็นเวลานาน 12 เดือนติดต่อกัน ถือว่าได้เข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนแล้ว
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปี แต่ผู้หญิงบางคนอาจจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี เนื่องจากสาเหตุทางพันธุกรรม ความเจ็บป่วย หรือสภาวะอื่นๆ การหมดประจำเดือนในช่วงวัยก่อนอายุ 40 ปีนี้ จะถือว่าเป็น ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature Menopause)
ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรพบได้บ่อยแค่ไหน
ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรพบได้ไม่บ่อยนัก ตามข้อมูลจากสถิติที่พบได้ในสหรัฐอเมริกา ภาวะนี้จะเกิดกับผู้หญิง 1 ใน 1,000 คน ของผู้หญิงในช่วงอายุ 15-29 ปี และ 1 ใน 100 คนของผู้หญิงในช่วงอายุ 30-39 ปี ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร มักจะมีอาการแบบเดียวกับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนทั่วไป และอาจรวมไปถึง
- อารมณ์แปรปรวน
- ช่องคลอดแห้ง
- เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความจำและการรับรู้
- อาการร้อนวูบวาบ
- ความต้องการทางเพศลดลง
- นอนไม่หลับ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- เหงื่อออกกลางคืน
- เจ็บช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
โดยปกติแล้ว อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มักจะเกิดขึ้นก่อนภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
อาจมีอาการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรายการด้านบน หากมีข้อกังวลหรือข้อสงสัยใดๆ โปรดติดต่อคุณหมอ
ควรพบหมอเมื่อใด
หากมีอายุต่ำกว่า 40 ปี และกำลังมีอาการดังต่อไปนี้ ควรติดต่อแพทย์เพื่อประเมินว่ากำลังเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรหรือไม่
- เคยผ่านการทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีบำบัด
- คนในครอบครัวมีประวัติเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น ภาวะไทรอยด์บกพร่อง คอพอก
- พยายามตั้งครรภ์ไม่สำเร็จมานานมากกว่า 1 ปี
- ญาติฝ่ายหญิงมีประวัติเกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ร่างกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดจึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดต่อสุขภาพร่างกาย
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
มีหลายสาเหตุของการหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ แต่บางครั้งก็อาจไม่สามารถระบุสาเหตุได้
กรรมพันธุ์
พันธุกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หากญาติฝ่ายหญิงเคยเกิดภาวะนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
การใช้ชีวิต
ลักษณะการใช้ชีวิตบางอย่าง อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร เช่น การสูบบุหรี่ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน และทำให้เกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มักจะเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ อย่างน้อย 1-2 ปี
ค่าดัชนีมวลกาย BMI ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร เพราะเอสโตรเจนนั้นจะกักเก็บอยู่ในชั้นไขมัน ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า ก็จะมีการกักเก็บเอสโตรเจนได้น้อนกว่า
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารมังสวิรัติ การไม่ออกกำลังกาย และการขาดแสงแดด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน
โครโมโซมบกพร่อง
โครโมโซมที่บกพร่องบางตัวสามารถนำไปสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรได้ เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome หรือเรียกว่า monosomy X และภาวะต่อมเพศไม่เจริญ) ซึ่งเป็นการเกิดมาพร้อมกับโครโมโซมที่ผิดปกติ ผู้หญิงที่มีอาการนี้ จะมีรังไข่ที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มักเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune diseases)
ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรอาจเป็นอาการของโรคแพ้ภูมิตัวเองได้เช่นกัน
ลมบ้าหมู
ลมบ้าหมูเป็นโรคลมชักที่มีสาเหตุมาจากสมอง ผู้หญิงซึ่งมีอาการนี้มักจะมีโอกาสที่จะเกิดการเสื่อมของรังไข่ก่อนกำหนด และนำไปสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรมีดังต่อไปนี้
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ความเสี่ยงของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น หากมีผู้หญิงในครอบครัวที่มีประวัติเป็นแบบนี้
- อาการเจ็บป่วย อย่างเช่นโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไทรอยด์ การติดเชื้อไวรัส ความผิดปกติของฮอร์โมน และความผิดปกติทางการกิน
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการหมดประจำเดือนเนื่องจากการผ่าตัดหรือการรักษาโรค คือผู้ที่รับการรักษามะเร็ง หรือโรคที่ต้องมีการผ่าตัดเอาอวัยวะสืบพันธ์ุเพศหญิงออก
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่สามารถทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใดๆ กรุณาปรึกษากับหมอของคุณทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม
การวินิจฉัยภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือด เพื่อดูอาการอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์ หรือ โรคไทรอยด์ นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการตรวจระดับฮอร์โมนเอสตราดิออล (Estradiol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนรูปแบบหนึ่ง หากร่างกายมีฮอร์โมนเอสตราดิออลต่ำ อาจหมายความว่ารังไข่เริ่มเสื่อมสภาพ และหากระดับของฮอร์โมนเอสตราดิออลมีน้อยกว่า 30 อาจหมายความว่ากำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
นอกจากนี้ หลักสำคัญในการวินิจฉัยภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรคือการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับของฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญของไข่ (FSH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้รังไข่ผลิตเอสโตรเจน
การรักษาภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ตามปกติแล้ว ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรนั้นมักจะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใด ๆ เพราะเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับไปเป็นเหมือนก่อนได้ อย่างไรก็ตามอาจจัดการกับอาการนี้ หรืออาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้ได้ เพื่อช่วยในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น
- ฮอร์โมนบำบัด วิธีการฮอร์โมนบำบัด (Hormone therapy-HT หรือเอสโตรเจนบำบัด Estrogen therapy-ET) มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของยากิน แผ่นแปะผิว สเปรย์พ่นผิวหนัง เจลหรือครีม การรักษาด้วยฮอร์โมนเฉพาะที่จะช่วยรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในช่องคลอด และควบคุมอาการ เช่น อาการร้อนวูบวาบ และช่องคลอดแห้ง
- ยาคุมกำเนิด การใข้ยาคุมกำเนิดเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำฮอร์โมนบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการจากการหมดประจำเดือน
- ยาต้านซึมเศร้า กลุ่ม SSRI ยานี้จะช่วยควบคุมอาการร้อนวูบวาบได้มากถึง 60%
ผู้หญิงที่เป็นหมันเนื่องจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองแบบไหนที่ช่วยรับมือกับภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือกับภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
- การใช้สารหล่อลื่นสามารถช่วยป้องกันอาการช่องคลอดแห้งได้
หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม