backup og meta

อาการวัยทอง เกิดจากอะไร และรับมือได้อย่าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    อาการวัยทอง เกิดจากอะไร และรับมือได้อย่าง

    อาการวัยทอง คือ ช่วงวัยที่มีระดับฮอร์โมนเพศลดลงเมื่ออายุมากขึ้นที่เข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยอาจสังเกตได้จากอารมณ์แปรปรวน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อย สภาพผิวเปลี่ยนแปลง 

    อาการวัยทองเกิดจากอะไร

    อาการวัยทอง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ที่มีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

    อาการวัยทองในผู้หญิง

    • ฮอร์โมนเพศลดลง ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป การทำงานของรังไข่ที่ช่วยผลิตระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเริ่มน้อยลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในภาวะเจริญพันธุ์และการมาของประจำเดือน จึงอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อย และอาจหยุดลงเมื่ออายุ 40-50 ขึ้นไป
    • การผ่าตัดรังไข่ออก เพราะรังไข่เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ที่ช่วยผลิตฮอร์โมนเพศและควบคุมการมาของประจำเดือน ดังนั้น เมื่อผ่าตัดนำรังไข่ออกทั้งหมดจะทำให้ประจำเดือนหยุดและเข้าสู่ช่วงวัยทอง
    • การทำเคมีบำบัดและการฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของรังไข่ที่ส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนลดลง ประจำเดือนหยุดลงและเริ่มมีอาการวัยทอง
    • ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency) อาจพบได้น้อยในผู้หญิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากรังไข่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้ในระดับที่เพียงพอต่อร่างกาย จึงส่งผลให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนถึงช่วงวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ

    อาการวัยทองในผู้ชาย

    อาการวัยในทองในผู้ชายอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง ที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป และอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหลังจากอายุ 70 ปี ซึ่งอาจตรวจสอบด้วยการเข้ารับการตรวจเลือดเมื่อเช็กระดับฮอร์โมนว่าลดลงหรือไม่ เพื่อรับการบำบัดเพื่อบรรเทาอาการวัยทอง หากมีอาการระดับรุนแรงที่นำไปสู่การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและภาวะซึมเศร้า

    อาการวัยทอง เป็นอย่างไร

    อาการวัยทองอาจสังเกตได้ ดังนี้

    • ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนหมดในผู้หญิงอารมณ์แปรปรวน
    • ช่องคลอดแห้ง
    • เจ็บเต้านม
    • ซึมเศร้าและรู้สึกหดหู่
    • ปวดไมเกรน
    • ร้อนวูบวาบ
    • ไม่มีสมาธิจดจ่อและหลงลืมง่าย
    • ปวดเมื่อยร่างกายบ่อย
    • อ่อนแรงและกล้ามเนื้ออ่อนแอ
    • น้ำหนักขึ้น
    • ผิวแห้งและมีอาการคัน
    • มีปัญหาการนอนหลับ
    • มีความต้องการทางเพศลดลง
    • เหงื่อออกตอนกลางคืน

    ภาวะแทรกซ้อนของอาการวัยทอง

    ภาวะแทรกซ้อนของอาการวัยทอง อาจมีดังนี้

    • โรคกระดูกพรุน อาการวัยทองอาจเพิ่มความเสี่ยงให้สูญเสียมวลกระดูกที่นำไปสู่กระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย โดยเฉพาะบริเวณสะโพก ข้อมือ และสันหลัง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีที่เป็นสาเหตุหนึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจพบได้ในผู้หญิงที่เป็นวัยทอง เนื่องจากสูญเสียเนื้อเยื่อในช่องคลอดและท่อปัสสาวะที่ส่งผลให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนี้ยังอาจส่งลให้ช่องคลอดแห้งและมีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอดและรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • โรคอ้วน อาการวัยท้องอาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานและนำไปสู่โรคอ้วน

    วิธีรับมืออาการวัยทอง

    วิธีรับมืออาการวัยทอง อาจทำได้ดังนี้

  • เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศโดยคุณหมอ เพื่อช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนและบรรเทาอาการวัยทอง เช่น บรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง ประจำเดือนมาปกติ และป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก
  • ควรควบคุมอารมณ์ตนเองเมื่อสังเกตว่าอารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายและทำให้รู้สึกดีขึ้น เช่น พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น นอนหลับพักผ่อน ดูหนัง อ่านหนังสือ ฝึกสมาธิ 
  • ดื่มน้ำเย็น และควรดื่มให้เพียงพอต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบและควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยการสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้ไร้สิ่งรบกวน เช่น เปิดไฟสลัว ๆ หรือปิดไฟและปิดผ้าม่านเพื่อป้องกันแสงสว่างจากข้างนอก ฉีดสเปรย์ปรับอากาศเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีและไขมันดี เพราะอาหารเหล่านี้มีวิตามินและสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี วิตามินบี โอเมก้า 3 แคลเซียม แมกนีเซียม  โพแทสเซียม ที่ช่วยเพิ่มพลังงาน สมาธิ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันเซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังเมื่อมีอายุมากขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ ควบคุมน้ำหนัก แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกระดูกพรุน อาจจำเป็นต้องขอคำแนะนำการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บ
  • สำหรับผู้ที่มีผิวแห้งและอาการคัน ควรบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายเซลล์ในร่างกาย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดตีบตัน โรคหลอดเลือดสมอง  
  • สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า รู้หดหู่ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ โดยอาจได้รับยากล่อมประสาทมารับประทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา