โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) เป็นหนึ่งในปัญหาของโรคหัวใจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ และสุขภาพกายโดยรวมของคุณ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด คุณอาจต้องทำการทราบข้อมูลพื้นฐานของโรคนี้เอาไว้ ก่อนเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
คำจำกัดความ
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) คืออะไร
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease : CAD) เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดหลักที่ลำเลียงเลือด ออกซิเจน และสารอาหาร ไปยังหัวใจ (หลอดเลือดแดงที่กล้ามเนื้อหัวใจ) จนเกิดความเสียหาย และมีการสะสมของคราบพลัคจากคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด หรือเกิดจากอาการอักเสบในหลอดเลือดหัวใจ
เมื่อคราบพลัคก่อตัวขึ้น จะทำให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบลง และส่งผลให้เลือดที่ลำเลียงไปยังหัวใจนั้นน้อยลง เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรืออาจจะเกิดสิ่งบ่งชี้และอาการอื่น ๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ การตีบตันของเส้นเลือดอย่างสมบูรณ์เกิดภาวะหัวใจวายได้
โรคหลอดเลือดหัวใจพบได้บ่อยเพียงใด
โรคหลอดเลือดหัวใจมักจะพบได้บ่อยทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
อาการ
อาการของ โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการที่มักพบได้มากที่สุดคืออาการปวดเค้นในหน้าอก (Angina) หรือเจ็บหน้าอก โดยอาการปวดเค้นในหน้าอกนี้สามารถอธิบายได้ว่าเป็น
- อาการหน่วง
- แรงกด
- อาการปวด
- อาการแสบร้อน
- อาการชา
- อาการแน่น
- อาการบีบคั้น
อาการเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นอาการของอาการอาหารไม่ย่อยและภาวะกรดไหลย้อนได้
อาการปวดเค้นในหน้าอกมักรู้สึกที่บริเวณหน้าอก แต่ยังอาจรู้สึกในบริเวณอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ไหล่ข้างซ้าย แขน คอ หลัง และกระดูกขากรรไกร
อาการดังกล่าวมักจะไม่ค่อยรุนแรงในผู้หญิง นอกจากนี้อาการคลื่นไส้ เหงื่อออก อ่อนเพลีย หรือหายใจไม่อิ่ม อาจเป็นอาการร่วมของอาการเจ็บหน้าอกแบบคล้ายมีแรงกดที่พบได้ทั่วไป อาการอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
- หายใจไม่อิ่ม
- อาการใจสั่น (หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ)
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- อ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- มีเหงื่อออก
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณสงสัยว่ากำลังเป็นโรคหัวใจวาย มีความดันโลหิตสูง ให้โทรแจ้งที่หมายเลขฉุกเฉินทันที หากคุณไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้ ให้คนในครอบครัวขับรถพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด การขับรถไปโรงพยาบาลเองควรเป็นทางเลือกสุดท้าย
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากความเสียหาย หรือบาดแผลในผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ในบางครั้งพบได้เร็วตั้งแต่ในวัยเด็ก ความเสียหายดังกล่าวอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- ความดันเลือดสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคเบาหวานหรือภาวะต้านอินซูลิน (insulin resistance)
- การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
เมื่อเกิดความเสียหายที่ผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ สิ่งสะสมจำพวกไขมัน (คราบพลัค) ที่เกิดจากคอเลสเตอรอลและของเสียในเซลล์อื่น ๆ อาจสะสมตัวในบริเวณที่เกิดความเสียหายในกระบวนการที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) หาพื้นผิวของคราบพลัคแตกหรือแยกออก เซลล์เม็ดเลือดที่เรียกว่า เกล็ดเลือด (platelets) จะจับตัวกันในบริเวณดังกล่าว เพื่อพยายามซ่อมแซมหลอดเลือดแดง การจับตัวกันของเกล็ดเลือดนี้ สามารถอุดตันหลอดเลือด ซึ่งก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดหัวใจ
มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจหลายประการ เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงสำหรับภาวะหลอดเลือดแดงเสียหายและตีบ
- ผู้ชายมักมีความเสี่ยงสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหลังจากวัยหมดประจำเดือน
- ประวัติครอบครัว ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคหัวใจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากญาติสนิทเป็นโรคหัวใจตั้งแต่ยังเด็ก มีความเสี่ยงสูงสุด หากบิดาหรือพี่ชายหรือน้องชายได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี หรือหากมารดาหรือพี่สาวหรือน้องสาว มีอาการของโรคก่อนอายุ 65 ปี
- ผู้ที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเป็นโรคหัวใจ การทำให้คนรอบข้างได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ของคุณยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเช่นกัน
- ความดันเลือดสูง ภาวะความดันเลือดสูงที่ไม่ได้รับการรักษา สามารถส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ซึ่งอุดตันช่องทางที่เลือดลำเลียงผ่าน
- ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดคราบพลัคและโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ระดับคอเลสเตอรอลสูงมีสาเหตุมาจากระดับไขมันความหนาแน่นต่ำ (low-density lipoprotein: LDL) ที่เรียกว่า คอเลสเตอรอล “ไม่ดี” ในเลือดสูง ระดับไขมันความหนาแน่นสูง (high-density lipoprotein: HDL) ที่เรียกว่า คอเลสเตอรอล “ดี” ในเลือดต่ำ อาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ โรคอ้วนและความดันเลือดสูง
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน น้ำหนักส่วนเกินมักส่งผลให้ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ แย่ลง
- การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย การขาดการออกกำลังกายยังมีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจ และปัจจัยเสี่ยงบางประการด้วยเช่นกัน
- ภาวะความเครียดสูง ความเครียดที่ไม่ได้รับการบรรเทาในชีวิตอาจทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย พร้อมทั้งทำให้ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจแย่ลง
ปัจจัยเสี่ยงมักเกิดขึ้นพร้อมกัน และอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหนึ่ง ๆ เช่น โรคอ้วนก่อให้เกิดโรคเบาหวานประเภท 2 และความดันเลือดสูง เมื่อถูกจัดกลุ่มเข้าด้วยกัน ปัจจัยเสี่ยงบางประการก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่รวมถึงภาวะความดันเลือดสูง ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง ระดับอินซูลินสูง และไขมันร่างกายส่วนเกินบริเวณรอบเอว เพิ่มความเสียงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ในบางครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้น โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่พบได้ทั่วไป นักวิจัยได้ทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้อื่นๆ ได้แก่
- ภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnea) อาการผิดปกติดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุให้คุณเริ่มและหยุดหายใจอย่างซ้ำๆ ในระหว่างที่นอนหลับ การลดลงกะทันหันของระดับออกซิเจนในเลือด ที่เกิดขึ้นในระหว่างภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะเพิ่มความดันเลือด และทำให้ระบบหัวใจใจและหลอดเลือดทำงานหนัก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- โปรตีนซี-รีแอ็คทีฟในระดับสูง (High sensitivity C-reactive protein: hs-CRP) เป็นโปรตีนที่เกิดขึ้นในปริมาณสูงขึ้น เมื่อมีอาการอักเสบที่บางบริเวณในร่างกาย ระดับโปรตีนซี-รีแอ็คทีฟที่สูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงปัจจัยหนึ่งสำหรับโรคหัวใจ เป็นที่สันนิษฐานว่าเมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบลง คุณจะมีปริมาณโปรตีนซีรีแอ็คีฟในเลือดเพิ่มมากขึ้น
- ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันในเลือดประเภทหนึ่ง ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง
- โฮโมซีสทีน (Homocysteine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ร่างกายของคุณใช้เพื่อสร้างโปรตีนและสร้างและรักษาเนื้อเยื่อ แต่โฮโมซีสทีนในระดับสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าคุณเป็นโรคนี้ หากได้รับรู้เกี่ยวกับอาการ ประวัติสุขภาพ และปัจจัยเสี่ยง
- การทดสอบร่างกาย
- การทดสอบเชิงวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram: ECG หรือ EKG) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (echocardiogram) การตรวจด้วยการออกกำลัง (exercise stress tests) การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยใช้ลำแสงอิเล็กตรอน (electron beam (ultrafast) CT scans) การสวนหัวใจและหลอดเลือด (cardiac catheterization) และอื่นๆ การทดสอบเหล่านี้ช่วยให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับขอบเขตของโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลต่อหัวใจ และการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
ยาประเภทต่างๆ สามารถใช้เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ได้แก่
- ยาลดคอเลสเตอรอล (Cholesterol-modifying medications) ด้วยการลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันความหนาแน่นต่ำ (low-density lipoprotein: LDL) หรือคอเลสเตอรอล “ไม่ดี” ยานี้จะช่วยลดสารเบื้องต้นที่สะสมตัวในหลอดเลือดหัวใจ แพทย์สามารถเลือกใช้ยาจากยาจำพวกหนึ่งได้ เช่น ยาสเตติน (statins) ยาไนอาซิน (niacin) ยาไฟเบรต (fibrates) และยาไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (bile acid sequestrants)
- แพทย์อาจแนะนำการใช้ยาแอสไพรินประจำวัน หรือยาเจือจางเลือด (blood thinner) สามารถช่วยลดแนวโน้มการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจได้ หากคุณเคยมีภาวะหัวใจวาย ยาแอสไพรินสามารถช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวในอนาคตได้ มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาแอสไพริน เช่น หากมีอาการเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังใช้ยาเจือจางเลือดตัวอื่น ดังนั้น ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแอสไพริน
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) ยาชนิดนี้ช่วยชะลอการเต้นของหัวใจ และลดความดันเลือด ซึ่งช่วยลดปริมาณความต้องการออกซิเจนของหัวใจ หากคุณเคยมีภาวะหัวใจวาย ยาเบต้าบล็อกเกอร์ช่วยลดความเสี่ยของภาวะดังกล่าวในอนาคตได้
- ยาเม็ด สเปรย์ และแผ่นยาไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) สามารถควบคุมอาการเจ็บหน้าอกได้ โดยการขยายหลอดเลือดหัวใจชั่วคราว และลดปริมาณความต้องการเลือดของหัวใจ
- ยาต้านเอนไซม์เอซีอี (Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors) และตัวบล็อคตัวรับแอนจีโอเทนซิน (angiotensin II receptor blockers: ARBs) ยาสองประเภทที่คล้ายกันนี้ลดความดันเลือด และอาจช่วยป้องกันการลุกลามของโรคหลอดเลือดหัวใจ
ในบางครั้งจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาที่รุนแรงขึ้น วิธีการดังกล่าวมีดังนี้
- การผ่าตัดขยายเส้นเลือด (Angioplasty)
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery)
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือโรคหลอดเลือดหัวใจ
ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับโรคหลอดเลือดหัวใจได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย
- ควบคุมความดันเลือด
- ตรวจคอเลสเตอรอลสม่ำเสมอ
- การออกกำลังกายช่วยให้คุณมีและควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียนไดเอ็ท ซึ่งเน้นอาหารจำพวกพืชผัก เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว
- จัดการความเครียด ให้ลดความเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
[embed-health-tool-heart-rate]