backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ความรู้พื้นฐานของอาการ ใจสั่น (Heart Palpitations) ที่คุณควรรู้


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 23/07/2021

ความรู้พื้นฐานของอาการ ใจสั่น (Heart Palpitations) ที่คุณควรรู้

ใจสั่น (Heart Palpitations) ไม่ใช่เรื่องที่ควรประมาท ถึงแม้ว่าจะมีอาการในระดับเบาก็ตาม เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้สุขภาพหัวใจของคุณนั้นแย่ลง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวข้องกับหัวใจอยู่แต่เดิม วันนี้ Hello คุณหมอ ได้รวบรวมข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้เบื้องต้นถึงอาการ สาเหตุ การรักษา มาฝากใฟ้ทุกคนได้ทราบเอาไว้ เพื่อรับมือเมื่ออาการใจสั่นถามหา

คำจำกัดความ

ใจสั่น (Heart Palpitations) คืออะไร

ใจสั่น (Heart Palpitations) คือ ความรู้สึกที่หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นแรง หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที สามารถรับรู้อาการเหล่านี้ได้ที่ลำคอ หรือภายในช่องคอได้เช่นกัน อาการใจสั่นอาจจะดูน่าตกใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตราย และไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาร้ายแรง

อาการ ใจสั่น พบได้บ่อยเพียงใด

อาการใจสั่นนั้น เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป และยังอาจที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย

อาการ

อาการของ ใจสั่น

อาการใจสั่นประกอบไปด้วย

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจเต้นถี่
  • หัวใจเต้นเร็วเกินไป
  • หัวใจเต้นแรงผิดปกติ

ผู้ที่เกิดอาการใจสั่นสามารถรับรู้ได้ในช่องคอหรือลำคอ เช่นเดียวกับบริเวณหน้าอก อาการใจสั่นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตอนที่ทำกิจกรรม และระหว่างพักผ่อน รวมถึงเกิดขึ้นได้ในยามที่ยืน นั่ง และนอน หากคุณมีบางอาการที่ไม่มีอยู่ในอาการข้างต้นเหล่านี้ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ควรไปพบหมอเพื่อรับคำแนะนำ หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

สาเหตุ

สาเหตุของอาการใจสั่น

ส่วนใหญ่แล้วอาการใจสั่น มีทั้งชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพหัวใจ และชนิดที่เกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพหัวใจ

  • เกิดอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว หรือความเครียด มักเกิดขึ้นระหว่างเกิดภาวะตื่นตระหนก
  • ออกกำลังอย่างหนักหน่วง
  • ได้รับคาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล หรือยาเสพติดผิดกฎหมาย อย่างเช่น โคเคน และแอมเฟตามีน
  • เกิดขึ้นจากภาวะด้านสุขภาพ อย่างเช่น โรคไทรอยด์ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะโลหิตจาง ความดันเลือดต่ำ มีไข้ และร่างกายขาดน้ำ
  • การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ หรือก่อนหมดประจำเดือน บางครั้งอาการใจสั่นในช่วงตั้งครรภ์ ก็เป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วน ยาลดความอยากอาหาร ยารักษาโรคหอบหืด และยาบางชนิดที่ใช้เพื่อป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ซึ่งเป็นปัญหาทางหัวใจชนิดรุนแรง) รวมถึงยารักษาต่อมไทรอยด์ที่ทำงานต่ำกว่าปกติ
  • สมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิด
  • ระดับอิเล็กโทรไลต์ที่ผิดปกติ
  • อาการใจสั่นหลังทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล หรือไขมันสูง บางครั้ง การรับประทานอาหารที่มีผงชูรส ไนเตรท หรือโซเดียมมากเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน หากเกิดอาการหัวใจสั่นหลังทานอาหาร ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ผู้เกิดอาการจึงควรจดบันทึก ว่ามีอาหารชนิดใดบ้างที่ตนเองควรหลีกเลี่ยง

สาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

โดยส่วนมาก มักจะเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) โดยภาวะสุขภาพหัวใจที่เกี่ยวข้องกับอาการใจสั่น ประกอบด้วย

  • ภาวะก่อนหัวใจวาย
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease)
  • หัวใจล้มเหลว
  • ลิ้นหัวใจมีปัญหา
  • กล้ามเนื้อหัวใจมีปัญหา

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการใจสั่น

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอาการใจสั่น มีดังต่อไปนี้

  • มีความเครียดสูง
  • ป่วยเป็นโรควิตกกังวล หรือมีอาการตื่นตระหนกเป็นประจำ
  • ตั้งครรภ์
  • รับยาที่มีสารกระตุ้น เช่น ยาแก้ไข้หวัด หรือยารักษาโรคหอบหืด
  • มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroidism)
  • มีปัญหาโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการ หรือเคยมีอาการหัวใจวาย

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการใจสั่น

หากแพทย์คิดว่าคุณมีอาการใจสั่น แพทย์จะใช้หูฟังสเต็ทโทสโคปตรวจเพื่อตรวจหาอาการที่น่าเป็นไปได้ของโรคอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการใจสั่น เช่น ต่อมไทรอยด์โต โดยการตรวจชนิดอื่นที่แพทย์อาจใช้ ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เป็นการตรวจหัวใจโดยที่ร่างกายไม่ได้รับบาดเจ็บ โดยใช้วิธีติดตัวรับกระแสไฟฟ้าบนหน้าอก เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ทำให้หัวใจเต้น อีกทั้งสามารถจะช่วยให้คุณหมอตรวจพบจังหวะการเต้นของหัวใจ และโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการใจสั่น โดยสามารถตรวจได้ทั้งในตอนที่ผู้ป่วยพักผ่อน และทำร่วมกับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (stress electrocardiogram)
  • การตรวจด้วยเครื่องโฮลเตอร์ (Holter monitor) เครื่องโฮลเตอร์เป็นอุปกรณ์พกพาที่ผู้ป่วยสามารถสวมใส่ติดตัว สำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ถึง 72 ชั่วโมง เครื่องโฮลเตอร์จะตรวจจับอาการใจสั่น ที่ไม่สามารถตรวจพบในการตรวจ ECG แบบปกติ
  • การตรวจด้วยเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจเฉพาะเหตุการณ์ (Event recording) ถ้าไม่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติในระหว่างที่สวมใส่เครื่องโฮลเตอร์ แพทย์ก็อาจแนะนำให้ตรวจด้วยเครื่อง Event recorder โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจต้องสวมใส่เครื่อง Event recorder เกือบตลอดทั้งวัน และกดปุ่มบันทึกของอุปกรณ์ที่อยู่บนเข็มขัด เพื่อบันทึกจังหวะการเต้นของหัวใจเมื่อมีอาการผิดปกติ และเป็นไปได้ที่ผู้เข้ารับการตรวจต้องสวมใส่อุปกรณ์นี้นานเป็นเวลาหลายสัปดาห์
  • การอัลตราซาวด์ทรวงอก การตรวจอัลตราซาวด์จะแสดงให้เห็นภาพโครงสร้างและการทำงานของหัวใจอย่างละเอียดโดยคลื่นอัลตร้าซาวด์จะถูกส่งผ่านและสะท้อนกลับมาให้บันทึกด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่อง ทรานสดิวเซอร์ (transducer) หรือตัวแปรสัญญาณ จากนั้น คอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องแปรสัญญาณนี้ มาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอแสดงผล

การรักษาอาการใจสั่น

ปกติแล้วหากอาการไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้มีอาการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการใจสั่นเท่านั้น แต่ถ้าอาการใจสั่นมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จึงเริ่มวางแผนเพื่อหาเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมกับโรคที่คุณเป็นในลำดับถัดไป

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาอาการใจสั่น

  • ลดความเครียดหรือความวิตกกังวล พยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลาย ด้วยการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือหายใจเข้าออกลึกๆ หรือใช้วิธีบำบัดแบบอโรมาเธอราพี
  • หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น สารกระตุ้นที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยคาเฟอีน นิโคติน ยาแก้ไข้หวัด และเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือ ผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงยาเสพติดผิดกฎหมาย อย่างเช่น โคเคนและแอมเฟตามีน ซึ่งนำมาสู่อาการใจสั่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 23/07/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา