โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหลอดเลือด ทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่เป็นเพราะปริมาณไขมันจำนวนมากที่จับตัวอยู่ในหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดในอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น สมอง หัวใจ ไต ดวงตา มักเกิดกับกลุ่มคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจเสี่ยงเป็นโดยไม่รู้ตัว เช่น คนที่ชอบสูบบุหรี่ คนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย คนที่น้ำหนักเกิน
สาเหตุโรคหลอดเลือดหัวใจ
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดชั้นในที่หนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจากจำนวนไขมันที่เข้าไปสะสมและจับตัวกันหนาขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบตัน รวมทั้งระดับน้ำตาล หรือระดับความดันโลหิตสูงซึ่งอาจไปทำลายหลอดเลือด เมื่อหลอดเลือดตีบหรือเสียหาย ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเป็นปกติ ทำให้หัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือด
อาการโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักมีอาการดังนี้
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ปวดเค้นในอก
- หายใจติดขัด หายใจไม่สะดวก
- ปวดแขนขา หรือชา ไร้ความรู้สึก แขนขาไม่มีแรง
- รู้สึกเจ็บบริเวณคอ กราม ลำคอ ท้องส่วนบน หรือเจ็บหลัง
- ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว เมื่อเลือดไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ทัน
สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจ
หากเริ่มมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับอาการของโรค ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย
- เวียนศีรษะ มึนศีรษะ
- หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ
- หายใจหอบ หรือเหนื่อยง่ายระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมบางอย่าง
- มือ เท้า หรือข้อเท้าบวมผิดสังเกต
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง นับเป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะยิ่งความดันโลหิตสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสไปทำลายหลอดเลือดได้มากเท่านั้น
- สารนิโคติน ซึ่งอยู่ในสูบบุหรี่หรือยาเส้นถือเป็นตัวการที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะถือเป็นสารอันตรายที่จะทำให้หลอดเลือดตีบและเสียหายได้
- ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลคือสารไขมันที่พบได้ในเลือด ซึ่งมีส่วนทำให้หลอดเลือดแคบลง เมื่อหลอดเลือดตีบก็เกิดการอุดตันของเลือดได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วไขมันหรือคอเลสเตอรอลแบ่งเป็นไขมันดี (High-Density Lipoprotein หรือ HDL) ซึ่งช่วยลำเลียงไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อไปยังตับ หากมีค่า HDL ในระดับสูงยิ่งดีเพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับไขมันเลวหรือชนิดไม่ดี (Low-density lipoprotein หรือ LDL) มีหน้าที่ช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ถ้ามีค่า LDL ในระดับที่สูงเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะจะเข้าไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่หลอดเลือดตีบและแข็ง
- เบาหวาน ภาวะเบาหวานทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และน้ำตาลจะไปทำลายหลอดเลือด หรืออาจทำให้หลอดเลือดตีบตัน
- การไม่ออกกำลังกาย หากร่างกายอยู่นิ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดการสะสมของระดับไขมันในเลือด หรือทำให้เป็นโรคอ้วนได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคทั้งสิ้น
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนอื่น ๆ ได้แก่
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมักมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- คนที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจมักเป็นในกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และยิ่งเสี่ยงเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
- เพศชาย โดยส่วนใหญ่แล้วเพศชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าเมื่อเทียบกับเพศหญิง และเป็นเมื่ออายุน้อยกว่า
- คนที่ชอบรับประทานของมัน ของทอด มีโอกาสที่จะมีระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูง
- คนที่ติดสุราหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น รวมทั้งความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย และนำไปสู่น้ำหนักตัวที่มากขึ้น
- คนที่มีน้ำหนักเกิน โดยวัดจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) สูงกว่า 25 จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสามารถตรวจค่าดัชนีมวลกายด้วยตัวเอง
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
- อายุน้อย ไม่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ยังไม่ต้องกังวล จริง ๆ แล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่ออัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะถึงแม้จะอายุยังน้อยแต่หากมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้
- ถึงเป็นเบาหวานก็ไม่น่าจะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพราะรับประทานยาคุมระดับน้ำตาลตลอด แม้จะรักษาตัวเกี่ยวกับโรคเบาหวาน แต่ค่าระดับน้ำตาล ค่าความดัน และไขมันในเลือด จำเป็นต้องคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และหากไม่ปรับพฤติกรรมอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เป็นเบาหวานแต่ระดับไขมันในเลือดปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาลดไขมัน ความจริงแล้ว แม้ผู้ป่วยจะควบคุมอาหารโดยการลดปริมาณอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรับประทานยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statin) ร่วมด้วย เช่น ซิมวาสแตติน (Simvastatin) อะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin) พิทาวาสแตติน (Pitavastatin)
- รับประทานยาในกลุ่มสแตตินเพื่อช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงส่งผลให้เกิดภาวะตับวายหรือไตวายในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจริง ๆ แล้วยาในกลุ่มนี้ถือว่ามีความปลอดภัยในการใช้ระดับหนึ่ง และมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ สำหรับ ผลกระทบต่อไตอาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไตหรือในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาปริมาณสูงและนานกว่า 10 ปี ซึ่งหากมีอาการข้างเคียงหลังจากใช้ยาควรปรึกษาคุณหมอ คุณหมอจะปรับเปลี่ยนยาที่เหมาะสมให้
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา อะโวคาโด ถั่ว ธัญพืช และอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักและผลไม้ทุกชนิด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นแอโรบิก เดิน ว่ายน้ำ เต้น เพื่อให้หัวใจได้ทำงาน เลือดสูบฉีดและไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนัก อาจปรึกษานักโภชนาการถึงน้ำหนักตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สัดส่วนกับส่วนสูงและรูปร่าง รวมทั้งตรวจวัดค่าดัชนีมวลกายอยู่เสมอ
- เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคอื่น ๆ
- หากเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ควรรับประทานยาสม่ำเสมออย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ รวมทั้งควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
- ควบคุมระดับความดันและระดับไขมัน แม้จะไม่ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากความดันและไขมันในเลือดสูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรค
LIPI-2022-0480
[embed-health-tool-heart-rate]