เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสุขภาพร่างกาย พละกำลัง การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งการนอนหลับ จนอาจทำให้ความเคยชินในการทำกิจวัติประจำวันของผู้สูงอายุแต่ละคนต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน แล้วความเปลี่ยนแปลงระหว่าง ผู้สูงอายุกับการนอนหลับ นั้นมีอะไรบ้าง ทาง Hello คุณหมอ มีข้อมูลมาฝากกันในบทความนี้
ผู้สูงอายุกับการนอนหลับ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
คนเรานั้นจะมีกิจวัตรในการนอนที่แตกต่างกัน บ้างก็อาจจะนอนเร็วตื่นเช้า บ้างก็อาจจะนอนดึกตื่นสาย หรือบางคนก็อาจจะชอบโต้รุ่งติดกันหลายๆ วัน โดยไม่รู้สึกเหนื่อยอะไรมากมาย แต่เมื่อเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น เราก็อาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่า รูปแบบการนอนของเรานั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปตามอายุด้วยเช่นกัน
จากเดิมที่บางคนอาจจะสามารถนอนหลับได้สนิทเป็นเวลานาน ก็อาจจะเริ่มมีอาการสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก บางคนที่สามารถโต้รุ่งไม่นอนได้ทั้งคืน ก็อาจจะไม่สามารถอดนอนได้นอนๆ เหมือนแต่ก่อน หรือบางคนก็อาจจะตื่นเช้ามากขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการนอนที่ปกติ ที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะต้องเจอ
นั่นก็เป็นเพราะว่า ผู้สูงอายุนั้นจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับการนอนหลับได้ ไม่ว่าจะเป็น การที่จำเป็นต้องลุกมาเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยๆ เพราะร่างกายไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ดีเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังปัญหาทางด้านความวิตกกังวล ความเครียด หรือแม้กระทั่งอาการป่วยจากโรคเรื้อรังที่รุมเร้า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของผู้สูงอายุ ทำให้ระยะเวลาในการนอนของผู้สูงอายุสั้นลง อยู่ที่ประมาณคืนละ 6-7 ชั่วโมง และมีโอกาสสะดุ้งตื่นกลางดึกได้มากขึ้น
การตื่นกลางคันนี้จะไปรบกวนการนอนของผู้สูงอายุ ทำให้ไม่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ และอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกอ่อนเพลียในเวลากลางวัน หรือทำให้นอนหลับได้ยากขึ้นในคืนถัดๆ มาอีกด้วย
ปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรมองข้าม
รูปแบบของการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการสะดุ้งตื่นกลางดึก การตื่นเช้าขึ้น และเวลาในการหลับลึกที่สั้นลง ปัญหาเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาในการนอนหลับในผู้สูงอายุได้ ซึ่งปัญหาในการนอนหลับที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มีดังต่อไปนี้
นอนไม่หลับ
ผู้สูงอายุนั้นมักจะชอบสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก และบางคนเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็จะไม่สามารถกลับไปนอนหลับได้อีก ทำให้เกิดอาการเพลีย และอาจต้องนอนในเวลากลางวัน ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาต่อการนอนหลับตามปกติในคืนถัดไป เมื่อผ่านไปนานเข้า ก็จะกลายเป็นปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังได้ในที่สุด
อาการนอนไม่หลับนั้นสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น
- สับสน มึนงง
- ง่วงนอนในตอนกลางวัน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- ซึมเศร้า วิตกกังวล
- มีความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เป็นต้น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) หมายถึงอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ โดยไม่รู้ตัวในขณะที่เรานอนหลับ ซึ่งอาจเกิดได้จากการที่กล้ามเนื้อหย่อนลงไปปิดกั้นหลอดลม หรือเกิดขึ้นเพราะสมองไม่สามารถส่งสัญญาณไปควบคุมกล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้อง เป็นหนึ่งในปัญหาในการนอนหลับที่สามารถพบได้มากในผู้สูงอายุ และอาจเป็นอันตรายได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับคือ
- กรนเสียงดัง
- มีช่วงจังหวะที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ
- หายใจหอบขณะหลับ
- ตื่นมาแล้วปากแห้ง
- ง่วงนอนในตอนกลางวัน
- หงุดหงิดง่าย
เทคนิคการจัดการปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ
มีกิจวัตรที่สม่ำเสมอในการนอน ควรกำหนดเวลาไว้ว่า จะเข้านอนในเวลากี่โมง และจะตื่นในเวลากี่โมง และพยายามเข้านอนและตื่นให้ได้ตามเวลานั้นเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ร่างกายคุ้นชิน และจะทำให้เราสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้นตามเวลาที่กำหนด
ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเบาๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่อย่าออกกำลังกายก่อนเวลานอน อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้นอนไม่หลับแทน
สงบใจ ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย จะช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น ควรปิดมือถือ โทรทัศน์ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ สักประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเวลานอน และหันมาทำกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ หรือนั่งสมาธิ จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
ไม่งีบในเวลากลางวัน เพราะหากคุณนอนในเวลากลางวัน จะทำให้หลับในตอนกลางคืนได้ยากขึ้น
อย่าดื่มน้ำเยอะก่อนนอน เพื่อป้องกันการต้องลุกไปปัสสาวะกลางดึก
ตรวจร่างกาย บางครั้งปัญหาในการนอนหลับ อาจจะเป็นเพราะอาการป่วยหรือการใช้ยาบางอย่างอยู่ก็ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับของคุณ แพทย์อาจจะสามารถทำการรักษาโรค หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนอนหลับของคุณก็ได้
[embed-health-tool-bmi]