ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป หากคุณกำลังประสบกับ ติ่งเนื้อในกล่องเสียง เพราะติ่งเนื้อนี้ เป็นเพียงติ่งเนื้อเล็ก ๆ ที่นูนขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เซลล์มะเร็งแต่อย่างไร และอาจประสบได้มากกับบุคคลที่มีการใช้เสียงเป็นหลัก เช่น นักร้อง นักแสดง เป็นต้น วันนี้ บทความของ Hello คุณหมอ จึงขอนำวิธีการรักษาติ่งเนื้อในกล่องเสียง เพื่อรักษาเส้นเสียงให้อยู่คู่กับคุณไปอย่างยาวนาน มาฝากทุกคนให้ได้ทราบกันค่ะ
ติ่งเนื้อในกล่องเสียง คืออะไร
ติ่งเนื้อในกล่องเสียง หรือ ติ่งเนื้อในเส้นเสียง (Vocal cord polyp) สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่คุณมีการใช้เสียงตะเบ็ง ตะโกน หรือมีการสูบบุหรี่มากเกินไป จนทำให้เส้นเลือดบริเวณเส้นเสียงนั้นเกิดการแตกตัวขึ้น ซึ่งตามปกติเมื่ออวัยวะคุณรับรู้ความเสียหาย ร่างกายของคุณจะรีบเร่งทำการซ่อมแซมส่วนนั้นในทันที โดยเป็นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นมีการเจริญเติบโตทับถมกันเป็นก้อนเนื้อนูนออกมาบริเวณเส้นเสียงที่ได้รับความเสียหาย และอาจมีขนาด สี ที่แตกต่างกันออกไปตามอาการของแต่บุคคล
อาการของติ่งเนื้อในกล่องเสียง ที่ควรสังเกต
เมื่อติ่งเนื้อเริ่มมีการก่อตัวขึ้น อาการแรกเริ่มที่อาจทำให้คุณรู้สึกได้นั้น มีดังต่อไปนี้
- หายใจไม่ออก
- เสียงแหบ
- สูญเสียเสียง
- ปวดช่องหู
- รู้สึกเหมือนมีก้อนบางอย่างขวางลำคอ
- ไอ เจ็บคอ
- ลดระดับประสิทธิภาพในการเปลี่ยนโทนเสียง
- ร่างกายอ่อนล้า
ซึ่งหากคุณกำลังสังเกตตนว่าเริ่มมีอาการข้างต้น โปรดรีบเข้ารับการตรวจสอบจากแพทย์อย่างละเอียดทันที เพราะนอกจากจะสามารถเป็นติ่งเนื้อในกล่องเสียงได้แล้ว ยังอาจทำให้คุณประสบกับภาวะอื่น ๆ ภายในเส้นเสียงได้อีกด้วย เช่น ถุงซีสต์เส้นเสียง ก้อนเนื้อตรงรอยพับเส้นเสียง เป็นต้น
วิธีการรักษา และ กำจัดติ่งเนื้อในกล่องเสียง
ขั้นตอนแรกของการรักษาแพทย์อาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาขนาดของ ติ่งเนื้อในเส้นเสียง ของคุณก่อน ว่ามีความเหมาะสมกับการรักษาด้วยเทคนิคใด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากติ่งเนื้อในกล่องเสียงมีขนาดเล็ก หรือมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์อาจแนะนำให้คุณพักการใช้เสียงชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองกับติ่งเนื้อขณะทำการรักษา
แต่หากบางกรณีที่ผู้ป่วยมีติ่งเนื้อขนาดใหญ่ แพทย์อาจจะต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดนำติ่งเนื้อออก พร้อมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูให้เสียงคุณนั้นกลับมาใช้งานตามปกติได้โดยไว
ป้องกัน ติ่งเนื้อในเส้นเสียง ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
นอกจากการรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์ข้างต้น สิ่งที่คุณควรปฏิบัติอย่างยิ่งอีกหนึ่งสิ่ง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคุณร่วมด้วย ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในห้องที่มีควันของบุหรี่
- ดื่มน้ำในปริมาณมาก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดการใช้เสียง หรืออาจใช้อุปกรณ์อย่างไมโครโฟนเพื่อขยายเสียงแทน
- ฝึกวอร์มเสียงทุกครั้งเมื่อต้องการจะใช้เสียงเป็นเวลานานในแต่ละวัน
ซึ่งการป้องกันเหล่านี้ อาจสามารถช่วยให้คุณลดความเสี่ยงของการเกิดติ่งเนื้อในกล่องเสียงได้ และอาจทำให้ประสิทธิภาพเสียงของคุณมีการใช้งานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย