ชอบเห็นภาพหลอน หูแว่วบ่อย อาจเพราะคุณมี อาการประสาทหลอน ก็ได้นะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/09/2020

    ชอบเห็นภาพหลอน หูแว่วบ่อย อาจเพราะคุณมี อาการประสาทหลอน ก็ได้นะ

    Hello คุณหมอ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกเหมือนมีอะไรไต่ตามแขนขา หรือไม่ก็ได้กลิ่นอะไรแปลก ๆ แต่พอถามคนอื่น เขากลับไม่รู้สึกเช่นเดียวกับคุณ และบอกว่าคุณคิดไปเอง อาการเหล่านี้หากนาน ๆ เป็นทีก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าใครที่หูแว่วบ่อย เห็นภาพหลอนเป็นประจำ ได้กลิ่นแปลก ๆ รู้สึกว่ามีอะไรไต่อยู่ในผิวหนัง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีปัญหาสุขภาพจิต อย่าง อาการประสาทหลอน ที่ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว จะได้ไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

    อาการประสาทหลอน คืออะไร

    อาการประสาทหลอน (Hallucinations) คือ ความผิดปกติทางการรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่เกิดขึ้นโดยที่อวัยวะรับสัมผัสไม่ได้ถูกกระตุ้น หรือไม่มีสิ่งเร้าภายนอกแต่อย่างใด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีสิ่ง ๆ นั้นเกิดขึ้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง หรือไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว รู้สึกว่ามีอะไรชอนไชตามผิวหนัง

    ส่วนใหญ่แล้ว อาการประสาทหลอน มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว แต่คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ก็สามารถมีอาการประสาทหลอนได้เช่นกัน

    ประเภทของ อาการประสาทหลอน

    อาการประสาทหลอนมีหลายประเภทดังนี้

    • อาการประสาทหลอนทางตา (Visual hallucinations) หรือ การเห็นภาพหลอน

    โดยอาจเห็นเป็นภาพคน สัตว์ สิ่งของ หรืออื่น ๆ และภาพครั้งอาจเห็นเป็นเพียงแสงก็ได้

    อาการประสาทหลอนทางการรับกลิ่น (Olfactory Hallucinations)

    ผู้ป่วยอาจได้กลิ่นแปลก ๆ และมักจะเป็นกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นตัว กลิ่นไฟไหม้ แต่บางครั้งผู้ป่วยก็อาจได้กลิ่นหอมได้กัน เช่น กลิ่นดอกไม้

    • อาการประสาทหลอนทางการรับรส (Gustatory Hallucinations)

    ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงรสชาติแปลก ๆ หรือรสชาติไม่พึงประสงค์ ที่พบบ่อยคือ มีรสโลหะในปาก โดยอาการประสาทหลอนประเภทนี้มักพบในผู้ป่วยโรคลมชัก

    • อาการประสาทหลอนทางหู (Auditory hallucinations) หรือ อาการหูแว่ว

    ผู้ป่วยอาจได้ยินคำพูด หรือเสียงแปลก ๆ โดยเสียงที่ได้ยินนั้นอาจชัดหรือไม่ชัด เป็นเสียงผู้หญิง ผู้ชาย มีเสียงเดียวหรือมีหลายเสียง และผู้ป่วยบางคนอาจรับฟังเฉย ๆ หรือพูดจาโต้ตอบด้วยก็ได้

    • อาการประสาทหลอนทางการสัมผัส (Tactile hallucinations)

    ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาโดนหรือไต่ตามตัว เช่น รู้สึกว่ามีแมลงไต่ขา รู้สึกว่าอวัยวะภายในขยับไปมา รู้สึกว่ามีใครมาจับแขน เป็นต้น

    อาการประสาทหลอน เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการประสาทหลอนที่เกิดขึ้น มักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • โรคจิตเภท หรือสภาะที่ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจ ที่พบบ่อย เช่น โรคจิตเภท ภาวะเพ้อ หรือภาวะสับสนเฉียบพลัน (Delirium) โรคหลายบุคลิก
    • โรคทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคไมเกรน เนื้องอกในสมอง โรคลมชัก
    • การนอนหลับ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ยิ่งคุณอดนอนนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดอาการประสาทหลอนได้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ระหว่างที่คุณกำลังเคลิ้มหลับ ก็อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้เช่นกัน อาการนี้เรียกว่า อาการประสาทหลอนช่วงเคลิ้มหลับ (Hypnagogic hallucinations) หรือบางคนอาจมีอาการประสาทหลอนตอนกำลังจะตื่นนอนได้ด้วย เรียกว่า อาการประสาทหลอนช่วงใกล้ตื่น (Hypnopompic hallucinations)
    • การใช้ยาเสพติด หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น แอลเอสดี (LSD) ยาอี
    • การใช้ยารักษาโรค ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาโรคจิต ยารักษาลมชัก อาจกระตุ้นอาการประสาทหลอนได้

    วิธีรับมือกับอาการประสาทหลอนด้วยตัวเอง

    ผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอนควรรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยวิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการประสาทหลอนของคุณ เช่น ให้ผ่าตัดหรือฉายรังสีเพื่อรักษาเนื้องอกในสมอง ใช้ยารักษาโรคจิตเภทหรือภาวะสมองเสื่อม ให้เข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)

    แต่นอกจากการรักษาที่ดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เคล็ดลับเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการประสาทหลอนได้ดีขึ้นเช่นกัน

    • ทำความรู้จักหรือพูดคุยกับผู้ที่มีอาการเหมือนกัน จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และขอคำแนะนำในการรับมือกับอาการประสาทหลอนที่เกิดขึ้นได้
    • ปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน อยู่เสมอ และอย่าลืมบอกพวกเขาด้วยว่าคุณมีอาการประสาทหลอน พวกเขาจะได้เข้าใจ และให้ความช่วยเหลือคุณได้หากจำเป็น
    • อาการประสาทหลอนอาจทำให้คุณรู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวังในชีวิตได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณทำกิจกรรมผ่อนคลาย หรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เมื่อความเครียดของคุณบรรเทาลง สุขภาพกายใจของคุณก็จะดีขึ้น และทำให้คุณรับมือกับอาการประสาทหลอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
    • ใส่ใจกับสภาพแวดล้อม เพราะในบางครั้ง สภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น ห้องที่แสงไฟสลัว บริเวณที่มีเสียงดัง สถานการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ก็อาจกระตุ้นให้คุณเกิดอาการรับรู้ผิดปกติ หรือทำให้อาการประสาทหลอนแย่ลงได้ หากคุณรู้ว่าสิ่งใดกระตุ้นอาการของคุณ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/09/2020

    โฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา