วัณโรคกระดูก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายจะซึมผ่านกระแสเลือด ลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกระดูก แต่วัณโรคกระดูกก็ยังสามารถป้องกันและรักษาได้ จึงควรพบแพทย์ให้เร็ว เมื่อรู้สึกว่าร่างกายกำลังผิดปกติ
[embed-health-tool-bmr]
สาเหตุของ วัณโรคกระดูก
วัณโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis เชื้อนี้ทนอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมได้นาน สามารถติดต่อได้ง่ายไปยังบุคคลอื่น ด้วยการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรด เข้าไปในร่างกาย ติดต่อได้จากการรับประทานอาหารที่มีภาชนะใส่อาหารปนเปื้อนเชื้อวัณโรค
เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางปอด จะทำให้ปอดเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งเชื้อจะซึมผ่านกระแสเลือดแล้วเข้าทำลายอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต และกระดูก
อันตรายจากวัณโรคกระดูก
วัณโรคกระดูกทำให้กระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลง พบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- กระดูกยุบตัว
- หลังโก่งงอ
- มีหนองหรือเศษกระดูก
- หมอนรองกระดูกเคลื่อน
และเมื่อเข้าสู่ไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้
อาการของวัณโรคกระดูก
ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นวัณโรคกระดูก เพราะอาการเบื้องต้นจะเป็นอาการปวดหลัง จนกระทั่งร่างกายเริ่มปวดมากจึงมาพบแพทย์ สำหรับสัญญาณเตือน วัณโรคกระดูก ที่ควรระวัง มีดังนี้
- มีอาการปวดเมื่อยตามตัวช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
- อาการปวดจะไม่หาย และมีอาการหนักมากขึ้นเมื่อผ่านไป 1 เดือน
- มีไข้ต่ำ ๆ ช่วงเย็น
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
หากมีการกดทับระบบประสาทจะส่งผลอื่น ๆ เช่น ขาชา อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก ต่อมน้ำเหลืองโต เดินกะเผลกได้ พบได้บ่อยในบริเวณข้อสันหลัง ข้อต่อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ และกระดูกสันหลังส่วนเอว
การวินิจฉัยวัณโรคกระดูก
การวินิจฉัยวัณโรคกระดูก จะตรวจทางรังสี ตรวจหากระดูกที่ถูกทำลาย หรือมีการโก่งตัวร่วมด้วย บางกรณีหมอนรองกระดูกแคบลง เพราะเชื้อวัณโรคกำลังทำลายกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ ยังใช้การตรวจด้วยซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ ตรวจว่าพบหนองหรือกระดูกสันหลังถูกทำลายหรือไม่
การรักษาวัณโรคกระดูก ทำได้อย่างไร
วิธีรักษาวัณโรคกระดูก แพทย์จะกำจัดเชื้อวัณโรคไม่ให้กดทับระบบประสาท ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังผิดรูป โดยให้ยาต้านวัณโรคกระดูกและข้อ และควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำเพื่อป้องกันการดื้อยา ซึ่งผู้ป่วยมักจะตอบสนองกับยาได้ดี จนทำให้ความจำเป็นในการผ่าตัดลดลง แต่กรณีที่อาการของวัณโรคกระดูก รุนแรงมาก จะใช้วิธีผ่าตัดรักษาแทน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อตะโพกที่เป็นวัณโรคด้วยข้อตะโพกเทียม สำหรับผู้ป่วยวัณโรคขณะไอหรือจามควรปิดปากด้วยผ้าหรือสวมหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันวัณโรค และควรแยกห้องนอนและของใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
การป้องกันวัณโรคกระดูก ทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง พยายามไม่อยู่ในพื้นที่แออัดซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที