ประชาชนชาวออฟฟิศทั้งหลายคงจะเคยประสบกับ อาการปวดไหล่ กันมาบ้าง เพราะต้องนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมตลอดทั้งวัน แต่อาการปวดไหล่สามารถที่จะแก้ไขได้ วันนี้เรามาดูกันว่าถ้า ปวดไหล่ จากการทำงาน จะมีวิธีรับมือและป้องกันอย่างไรได้บ้าง ไปติดตามสาระดีๆ ที่บทความนี้ จาก Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ
สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ ปวดไหล่
อาการปวดไหล่ (Shoulder pain) นั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งอาการปวดไหล่ก็เป็นลักษณะอาการของโรคต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดที่บริเวณไหล่ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคไขข้ออักเสบ และยังสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย ได้แก่
- เกิดการผิดท่าผิดทางกับบริเวณไหล่ อาจเป็นการนั่ง การนอน การยก ย้ายสิ่งของต่างๆ การทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวช่วงแขนและหัวไหล่
- การยกของหนักขึ้นเหนือหัวไหล่
- เกิดการกดทับที่บริเวณไหล่
- เกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวไหล่และกล้ามเนื้อบริเวณไหล่
- เกิดอาการอักเสบที่บริเวณเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูกที่บริเวณหัวไหล่
- กล้ามเนื้อบริเวณคอ และไหล่ เกิดอาการตึงในขณะที่นั่งทำงานหรือขณะที่ยืน
อาการ ปวดไหล่ เกิดจากการทำงานได้อย่างไร
การเคลื่อนไหว อากัปกิริยาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราสามารถที่จะส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ โดยเฉพาะในการทำงาน สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ หรือทั้งวัน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่บริเวณช่วงคอและข้อมือ รวมถึงบริเวณไหล่เกิดอาการตึง เกร็ง เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวต้องค้างอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน
กล่าวคือ ลำคอก็จะตั้งตรง ใบหน้าจดจ่อที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ข้อมือจะประจำอยู่ที่แป้นพิมพ์และเม้าส์ เมื่ออยู่ในท่านี้เป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่เกิดอาการเมื่อยล้า และนานเข้าก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบที่เส้นเอ็น ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็น อาการปวดไหล่ ตามมาในที่สุด
ปรับท่านั่งในการทำงานอย่างไรให้เหมาะสม
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ และต้องนั่งทำงนในท่าเดิมนานๆ จนรู้สึกปวดไหล่ล่ะก็ ลองมาปรับเปลี่ยนท่านั่งในการทำงานเพื่อป้องกัน อาการปวดไหล่ ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับเก้าอี้ เก้าอี้ที่นั่งทำงานควรที่จะสามารถปรับขึ้น-ลงได้ เพื่อให้สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้อย่างเหมาะสมกับสรีระของคนทำงานและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
- เลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักหลัง เพื่อให้เกิดการรองรับบริเวณหลังส่วนล่าง หรือช่วงเอว
- ระยะห่างระหว่างหน้าจอควรห่างจากใบหน้าในระยะความยาวของแขน และหน้าจอต้องไม่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับของสายตา
- เวลาพิมพ์งาน หรือใช้เม้าส์ ข้อมือกับช่วงแขน(ระหว่างข้อศอกถึงข้อมือ)ควรวางตรงไปในแนวเดียวกัน ไม่ควรทำมุม
- ขณะพิมพ์งาน ช่วงต้นแขนควรจะอยู่แนบกับลำตัว บริเวณข้อศอก ข้อพับแขน ควรอยู่แนบชิดกับลำตัว
- เท้าควรแตะพื้นอย่างมั่นคง วางขาให้ขนานกับพื้น นั่งตัวตรง ไม่งอตัว
ป้องกันอาการปวดไหล่จากการทำงานอย่างไรได้บ้าง
นอกเหนือไปจากการปรับท่านั่งในการทำงานแล้ว เรายังสามารถที่จะป้องกัน อาการปวดไหล่ จากการนั่งทำงานได้อีกหลายวิธี ดังนี้
- อย่านั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนอริยาบถบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการยืดเส้นยืดสาย การออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ พยายามปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงานอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้นั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เนื่องจากจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้า และส่งผลให้เกิด อาการปวดไหล่
- โต๊ะทำงานไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป เมื่อเวลานั่งโต๊ะทำงานควรจะสูงอยู่ในแนวเดียวกับข้อศอก
- ใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มความสะดวก หากหน้าที่การทำงานของคุณจำเป็นต้องเอี้ยวตัวไปรับโทรศัพท์บ่อยๆ หรือบางครั้งต้องมีการหนีบโทรศัพท์ไว้กับหูและไหล่เพื่อจดรายละเอียดการทำงาน ให้หาอุปกรณ์เสริมอย่างหูฟัง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวหรือหนีบโทรศัพท์
- ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาพัก อย่าหักโหมจนเกินไป ร่างกายควรจะได้เปลี่ยนแปลงอริยาบถหรือพักผ่อนเพื่อคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
- พบคุณหมอ หาก อาการปวดไหล่ ที่เป็นอยู่มีอาการเรื้อรัง รักษาในเบื้องต้นแล้วไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ให้ไปพบคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป