หากคุณลองสังเกตตนเองแล้วพบว่า ขณะเคลื่อนไหวมีอาการเจ็บปวดตามข้อต่อหัวไหล่ หรือแขน และไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดังเดิมเหมือนแต่ละวันที่ผ่านมา ก็สามารถเป็นไปได้ว่าสัญญาณแรกเริ่มของอาการ เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด หรือ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) และอาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย รวมถึงเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คำจำกัดความ
เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) คืออะไร
เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด สามารถพบบ่อยได้เพียงใด
ภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดอาจพบบ่อยได้กับผู้ที่ชื่นชอบเล่นกีฬาที่มีการใช้แรงเหวี่ยง แรงบิดของแขน หรือหัวไหล่อย่างมาก เช่น เบสบอล เทนนิส เป็นต้น รวมไปถึงผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีการยกแขนขึ้นเหนือศีรษะตลอดเวลา เช่น ช่างทาสี ช่างทำความสะอาดหน้าต่าง และผู้ที่มักต้องใช้แรงแขนในการยกของหนักตลอดเวลาซ้ำไปซ้ำมาเป็นประจำทุกวัน
อาการ
อาการของ เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
ผู้ป่วยบางคนนั้น อาจไม่ได้รับสัญญาณเตือนของอาการ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด เสมอไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากเกิดอาการ ดังต่อนี้ไปนี้ ขึ้นคุณอาจจำเป็นต้องเร่งเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อป้องกันการเกิดอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนที่อาจตามมา
- รู้สึกแขน และหัวไหล่ไม่มีแรงต่อการเคลื่อนไหว
- ไม่สามารถยกวัตถุ หรือสิ่งของได้ตามปกติ
- ได้ยินเสียงบางอย่างภายในช่วงแขน และไหล่ เมื่อคุณขยับ
- รู้สึกเจ็บปวด เมื่อเผลอกดทับบริเวณแขน และหัวไหล่แรง เช่น การนอนทับแขน เป็นต้น
- เคลื่อนไหวแขนไปทางด้านหลังได้ยากกว่าปกติ
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
การที่ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด อาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บที่ไหล่อย่างหนัก หรืออาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นลงตามอายุ รวมไปถึงการยกของหนักเป็นเวลานานจนเกินไปทำให้เส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่นั้นได้รับความเสียหาย และเผยอาการเจ็บปวดออกมาให้คุณได้รู้สึกในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
ปัจจัยหลักที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณประสบกับภาวะ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ได้นั้น เป็นไปได้ว่าอาจมาจากปัญหาทางสุขภาพส่วนบุคคล จนรวมไปถึงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่ทันระมัดระวังร่วม ดังนี้
- อาชีพของคุณ เช่น ช่างทาสี งานก่อสร้าง เป็นต้น
- การเลือกเล่นกีฬา เช่น เทนนิส พายเรือ เบสบอล เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นกีฬาที่คุณชื่นชอบ แต่ก็อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงให้เกิดภาวะเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดได้เช่นเดียวกัน หากไม่มีการระมัดระวัง
- ภาวะขาดเลือด เมื่อคุณเริ่มมีอายุมากขึ้น ก็สามารถอาจทำให้เลือดนั้นเกิดการไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นหัวไหล่ได้น้อยลง จนทำให้เกิดอาการรู้สึกปวดเมื่อยตามมา
- อายุที่มากขึ้นตามลำดับ มักพบบ่อยในผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากอาจทำให้เนื้อเยื่อที่เกาะอยู่บริเวณนั้นเสื่อมลง และหลุดออกไปตามกาลเวลาจึงอาจทำให้บริเวณข้อต่อหัวไหล่นั้นทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ และเกิดการเจ็บปวดได้ในที่สุด
- ประวัติครอบครัว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนนั้นคิดว่าอาจมีชิ้นส่วนทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ร่วม แต่ถึงอย่างไรก็อาจเกิดขึ้นในบางครอบครัวเพียงเท่านั้น
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
เริ่มแรกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการสอบถามสาเหตุเบื้องต้นถึงอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น พร้อมกับการทดสอบความแข็งแรงด้านการเคลื่อนไหวแขนของคุณร่วมว่ามีประสิทธิภาพในการขยับมากน้อยเพียงใด และมีอาการบาดเจ็บในส่วนใดบ้าง แต่ในบางกรณีนั้นแพทย์ก็อาจใช้เทคนิคทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้ เข้ามาช่วยมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยมากยิ่งขึ้น
- การเอ็กซเรย์ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในอย่างละเอียดว่ามีกระดูกส่วนใดแตกหัก หรือไม่ รวมไปถึงดูความเสียหายภายในของเส้นเอ็นช่วงหัวไหล่ที่อาจมีการฉีกขาดอีกด้วย
- อัลตร้าซาวด์ การทดสอบด้วยเทคนิคนี้เป็นการใช้คลื่นเสียง เพื่อสร้างภาพโครงสร้างภายในร่างกายของคุณออกมา โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น อีกทั้งยังเป็นการเปรียบเทียบได้อย่างรวดเร็วระหว่างไหล่ของผู้ป่วยที่ประสบกับปัญหา และไหล่ที่มีสุขภาพดีแต่เดิม เพื่อให้ผู้ป่วยได้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
- การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เทคโนโลยีนี้เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กแรงสูง เพื่อเผยภาพที่แสดงถึงโครงสร้างทั้งหมดของไหล่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เผยปัญหาภายในได้อย่างละเอียด และง่ายต่อการหาวิธีรักษามากขึ้น
การรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
การรักษาแต่ละวิธีนั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกเทคนิคของทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า อาการที่คุณประสบนั้นเหมาะกับการรักษาแบบใด ซึ่งแบ่งออกตามเกณฑ์ของอาการตั้งแต่ระดับเบา จนถึงระดับรุนแรง ดังต่อไปนี้
- การฉีดยา
แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์เข้าที่ข้อไหล่ของคุณ เพื่อลดอาการเจ็บปวดลง ถึงแม้วิธีนี้จะเป็นการระงับอาการเพียงชั่วคราว แต่ก็ควรมีการระมัดระวังไม่แพ้กัน เพราะเนื่องจากอาจทำให้เส้นเอ็นมีประสิทธิภาพเสื่อมถอยลง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย และอยากหายจากอาการเจ็บปวดจากภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดระยะยาว อาจจำเป็นต้องเลือกการผ่าตัดทดแทน
- บำบัด
การทำกายภาพบำบัดอาจเป็นวิธีรักษาแรกที่แพทย์อาจแนะนำ แต่ควรได้รับการบำบัดอย่างเหมาะสมตามอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งการใช้เทคนิคนี้ในการรักษาอาจทำให้เป็นการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของแขน และหัวไหล่ให้มีการใช้งานได้ดีมากขึ้น
- การผ่าตัด
มีการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้ ตามลักษณะอาการของแต่ละบุคคลที่ประสบ
- การซ่อมแซมเส้นเอ็นที่อักเสบ (Arthroscopic) ศัลยแพทย์อาจทำการสอดกล้องขนาดเล็ก (arthroscope) และเครื่องมือผ่านรอยบากเล็ก ๆ เพื่อเข้าไปยึดติดเอ็นที่ฉีกขาดให้เข้ากับกระดูก
- ซ่อมแซมเส้นเอ็นแบบแผลเปิด (Open) บางกรณีแพทย์อาจใช้เทคนิคการซ่อมแซมเส้นเอ็นแบบเปิด เพราะเนื่องจากอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ซึ่งในการผ่าตัดประเภทนี้ศัลยแพทย์ของคุณจะทำการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ เพื่อทำการยึดติดเอ็นที่เสียหายให้เข้ากับกระดูก
- การถ่ายโอนเส้นเอ็น (Tendon transfer) เมื่อเส้นเอ็นที่ฉีกขาดได้รับความเสียหายเกินกว่าที่จะนำกลับไปยึดติดเข้ากับกระดูก ศัลยแพทย์อาจตัดสินใจใช้เส้นเอ็นที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณแขน หรือหัวไหล่นั้นเข้ามาทดแทนเส้นเอ็นเดิม
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่ (Shoulder replacement) หากเป็นการบาดเจ็บในกรณีรุนแรง หรือได้รับความเสียหายมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดจำนวนมากอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่ โดยอาจใส่เป็นอุปกรณ์ข้อไหล่เทียมเข้าไป พร้อมทำกายภาพบำบัดร่วม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
หากคุณไม่อยากประสบกับภาวะ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด และอาการเจ็บปวดที่แทรกซ้อนตามมาแล้วละก็ คุณควรระมัดระวังการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการยกของหนัก การใช้แรงเหวี่ยงแรงบิดของแขน หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของแขนที่เหนือศีรษะอยู่บ่อยครั้ง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจนำพาให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นรอบหัวไหล่คุณนั้นได้รับความเสียหายได้
อีกทั้งผู้ที่ทำการผ่าตัด หรือเคยได้รับการรักษามาแล้วก็ควรระวังเฉกเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกัน และสร้างความปลอดภัยให้ห่างไหลจากภาวะ เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ดังที่กล่าวมาข้างต้น