กรดอะมิโน (Amino Acid) เป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างโปรตีน มีทั้งหมด 20 ชนิด แบ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็น เช่น ฮิสทิดีน (Histidine) ไอโซลิวซีน (Isoleucine) ลิวซีน (Leucine) ไลซีน (Lysine) และกรดอะมิโนไม่จำเป็น เช่น อะลานีน (Alanine) ไทโรซีน (Tyrosine) กลูตามีน (Glutamine) กรดอะมิโนมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จึงควรได้รับกรดอะมิโนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
[embed-health-tool-bmi]
กรดอะมิโน คืออะไร
กรดอะมิโน เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ
1. กรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-Essential Amino Acids)
ร่างกายสามารถสร้างได้เองในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ อะลานีน (Alanine) อาร์จินีน (Arginine) แอสพาราจีน (Asparagine) กรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) ซีสเตอีน (Cysteine) กรดกลูตามิก (Glutamic acid) กลูตามีน (Glutamine) ไกลซีน (Glycine) โพรลีน (Proline) ซีรีน (Serine) และไทโรซีน (Tyrosine)
ประโยชน์ของกรดอะมิโนไม่จำเป็น เช่น ช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้อล้าจากการออกกำลังกาย ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองและระบบประสาท ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระบวนการเมแทบอลิซึม ช่วยให้การเผาผลาญพลังงาน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
2. กรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acids)
ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น พบมากในอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ ถั่วเหลือง กรดอะมิโนจำเป็นมีทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่
- ฮิสทิดีน (Histidine) เป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ช่วยสร้างฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร การนอนหลับ การตื่นนอน และระบบสืบพันธุ์ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 14 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) จำเป็นต่อการผลิตสารเคมีในสมอง เช่น โดปามีน (Dopamine) อิพิเนฟริน (Epinephrine) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เพิ่มความตื่นตัวและความกระฉับกระเฉง ช่วยสร้างคอลลาเจน และช่วยเสริมสร้างความจำ ทั้งยังสำคัญต่อการผลิตกรดอะมิโนอื่น ๆ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 33 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ไอโซลิวซีน (Isoleucine) มีส่วนช่วยกระตุ้นการเผาผลาญกล้ามเนื้อและป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ ช่วยในการสร้างโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าฮีโมโกลบิน ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงาน และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เป็นปกติ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ลิวซีน (Leucine) ช่วยสร้างโปรตีน สร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ช่วยสมานแผล และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไปคือ ประมาณ 42 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ไลซีน (Lysine) มีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ช่วยควบคุมระบบเผาผลาญ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียม โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 38 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- เมไทโอนีน (Methionine) ช่วยให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโต ช่วยให้กระบวนการเมแทบอลิซึมเป็นปกติ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ซีลีเนียม สังกะสี โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ทรีโอนีน (Threonine) เป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ช่วงล้างพิษ ใช้ในกระบวนการสร้างลิ่มเลือดเพื่อป้องกันเลือดออกมากผิดปกติ ช่วยเผาผลาญไขมัน ทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันด้วย โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ทริปโตเฟน (Tryptophan) ช่วยรักษาสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย ช่วยสร้างสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร และการนอนหลับ ทั้งยังช่วยป้องกันการสร้างไขมันในตับด้วย โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- วาลีน (Valine) ช่วยในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ การสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และการสร้างพลังงาน และช่วยให้สมองสามารถนำกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ทริปโตเฟน และไทโรซีน ไปใช้สร้างสารสื่อประสาทได้ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันโดยทั่วไป คือ ประมาณ 24 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ควรได้รับกรดอะมิโนจำเป็นทั้ง 9 ชนิดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น อาเจียน ไม่อยากอาหาร ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนแรง อาจเกิดโรคควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) และโรคมาราสมัส (Marasmus) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการขาดโปรตีนและพลังงาน หากเกิดขึ้นในเด็กอาจส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้าได้
สำหรับผู้ที่รับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารแบบมังวิรัติหรือวีแกน อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนจำเป็นน้อยเกินไป และอาจเสริมกรดอะมิโนให้ร่างกายได้ด้วยการรับประทานกรดอะมิโนที่อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับปริมาณในการบริโภคที่เหมาะสม และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนที่ได้รับการรับรองจาก อย. เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ