backup og meta

อาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม จากพืช ที่ชาววีแกนกินได้แน่นอน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    อาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม จากพืช ที่ชาววีแกนกินได้แน่นอน

    แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมที่เรารู้จักกันโดยส่วนใหญ่คือ นมวัว ซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมเดียวที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่จริงๆ แล้วยังมีแหล่ง แคลเซียม จากพืช อีกมากมายที่หลาย ๆ คุณอาจไม่เคยรู้ สำหรับใครที่เป็นมือใหม่หัดเป็นชาววีแกน แนะนำให้อ่านบทความนี้เลยค่ะ เพราะว่า Hello คุณหมอ ได้รวบรวมแหล่ง แคลเซียมจากพืช ที่ชาววีแกนสามารถรับประทานได้มาฝากกันค่ะ

    แคลเซียมสำคัญกับร่างกายอย่างไร

    แคลเซียม (Calcium) เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญสำหรับกระดูก เป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรง ส่วนใหญ่แล้วพบได้ในนม ผักใบเขียว เมล็ดงา เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ส้มโอ และน้ำส้ม และยังมีในอาหารชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย

    แคลเซียมถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญสำหรับร่างกายมาก เพราะนอกจากช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรงแล้ว แคลเซียมยังมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด และยังช่วยปรับความสมดุลของความดันโลหิต ช่วยป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย หากร่างกายมีปริมาณแคลเซียมที่ต่ำ อาจทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกได้

    แคลเซียม จากพืช ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

    ดังที่กล่าวไปแล้วว่า แคลเซียมเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ตามข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ในสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ใหญ่อายุระหว่าง 19-50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งแคลเซียมในปริมาณนี้มีอยู่ในนม 8 ออนซ์หรือนม 3 แก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทนม ชีสและโยเกิร์ตถือเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด

    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตส  รวมถึงผู้ที่รับประทานอาหารแบบวีแกนก็สามารถมั่นใจได้มากขึ้น เพราะนอกจากอาหารประเภทนม ชีสและโยเกิร์ต ยังมีแหล่ง แคลเซียมจากพืช มากมาย ซึ่งบรรดาพืชที่เรานำมาฝากเหล่านี้ ก็นับเป็นแหล่งของแคลเซียมชั้นเยี่ยมเช่นกัน

    เมล็ดเจีย

    เมล็ดเจีย 2 ช้อนโต๊ะ ให้ปริมาณแคลเซียม 179 มิลลิกรัม เมล็ดเจียนอกจากมีปริมาณแคลเซียมสูงแล้ว ยังมีโบรอน (boron) ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญ

    งา

    การรับประทานงาดำเพียง 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากถึง 88 มิลลิกรัม นอกจากนี้การรับประทานเมล็ดงา ยังได้สารอาหารอื่นอีกด้วย เช่น สังกะสีและทองแดง ซึ่งสารอาหารทั้งสองนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูก จากการศึกษาในปีค.ศ. 2013 พบว่าการรับประทานงาเพิ่มมีส่วนช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้

    ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง

    ถั่วเหลืองอุดมไปด้วยแคลเซียมตามธรรมชาติ ถั่วเหลืองปรุงสุกหนึ่งถ้วยประมาณ 175 กรัม ให้ปริมาณแคลเซียม 18.5% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน ส่วนถั่วเหลืองอ่อนหรือถั่วแระให้ปริมาณแคลเซียมประมาณ 27.6% ของประมาณที่ต้องการต่อวัน นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลืองที่มีแคลเซียมอีก เช่น

    นมถั่วเหลือง

    นมถั่วเหลือง 1 ถ้วยมีแคลเซียมในปริมาณเท่า ๆ กับนมวัว ที่สำคัญการรับประทานนมถั่วเหลืองยังได้วิตามินดีและมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่านมสดที่มีแลคโตสอีกด้วย

    เต้าหู้

    เต้าหู้เป็นอีกหนึ่งแหล่งแคลเซียมที่ดีต่อร่างกาย ก่อนการซื้อเต้าหู้โปรดอ่านฉลากอย่างละเอียดและเลือกเฉพาะเต้าหู้ที่มีเกลือแคลเซียม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ถือเป็นแหล่งไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุที่ดี นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองยังถือเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง

    อัลมอนด์

    อัลมอนด์เต็มเมล็ด 1 ถ้วยให้ปริมาณแคลเซียม 385 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามการบริโภคอัลมอนด์ 1 ถ้วยนั้นให้พลังงาน 838 กิโลแคลอรี่และไขมันเกือบ 72 กรัม แม้ว่าไขมันจากอัลมอนด์ส่วนใหญ่ จะมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว แต่การบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูงก็ไม่ดีต่อร่างกาย ดังนั้นควรจำกัดการบริโภคให้น้อยลง เพียงหนึ่งใน 4 ถ้วยต่อ 1 หน่วยบริโภคเป็นต้น

    เมล็ดทานตะวัน

    เมล็ดทานตะวันหนึ่งถ้วยให้ปริมาณแคลเซียม 109 มิลลิกรัม นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังอุมดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของแคลเซียมในร่างกายและช่วยควบคุมสุขภาพของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังมีวิตามินอีและทองแดง ที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกระดูกและป้องกันการสูญเสียกระดูก

    อย่างไรก็ตามเมล็ดทานตะวันที่วางขาย อาจมีการเพิ่มเกลือเข้าไปในปริมาณสูง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรเลือกรับประทานเมล็ดทานตะวันดิบที่ไม่มีการเพิ่มเกลือลงไปด้วย ที่สำคัญควรบริโภคแต่พอดีและคำนึงถึงปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับด้วย

    สาหร่ายทะเล

    สาหร่ายทะเลเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้กับร่างกาย เราสามารถรับประทานสาหร่ายทะเลได้ทั้งแบบดิบและปรุงสุก สาหร่ายทะเลเป็นอาหารที่ให้ปริมาณแคลเซียม 126 มิลลิกกรัมต่อถ้วย (ประมาณ 80 กรัม) หรือ 12% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน

    ผักและผักใบเขียว

    ผักบางชนิด โดยเฉพาะผักที่มีรสขม เช่น ผักใบเขียวและพืชตระกูลกะหล่ำ มักจะอุดมไปด้วยแคลเซียม ตัวอย่างเช่น ผักป๋วยเล้ง ผักกว้างตุ้งไต้หวัน และกระหล่ำปลี เมื่อปรุงสุกแล้วให้แคลเซียม 84–142 มิลลิกรัมต่อ 1/2 ถ้วยตวง (ประมาณ 70–95 กรัม) หรือ 8–14% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน

    นอกจากนี้ยังมีผักที่อุดมด้วยแคลเซียมอื่น ๆ ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว คะน้า กะหล่ำปลี และบรอกโคลี เมื่อปรุงสุกแล้วให้แคลเซียมประมาณ 3–6% ของปริมาณที่ต้องการต่อวัน ที่สำคัญผักเหล่านี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย

    ส้ม

    ส้มลูกใหญ่หนึ่งลูกมีแคลเซียม 74 มิลลิกรัม ในขณะที่น้ำส้มเสริมแคลเซียมแก้วเดียวมีปริมาณแคลเซียม 300 มิลลิกรัม

    แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญกับร่างกาย กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท แต่หลายคนไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ เพราะรับประทานอาหารแบบวีแกนและมังสวิรัติ ซึ่งมีแหล่งแคลเซียมจากพืชมากมายทั้ง ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช และถั่วต่าง ๆ ตัวเลือกเหล่านี้ถือเป็นแหล่งแคลเซียมจากพืชที่ดี ที่ชาววีแกนควรรับประทาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา