backup og meta

5 ประโยชน์ของ กระเทียม และผลข้างเคียงในการบริโภค

5 ประโยชน์ของ กระเทียม และผลข้างเคียงในการบริโภค

กระเทียม เป็นพืชในตระกูลเดียวกับหัวหอม มักนิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหาร แต่ละหัวมีประมาณ 10-20 กลีบ กระเทียมมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุนานาชนิด เช่น วิตามินซี ซีลีเนียม (Selenium) สารอัลลิซิน (Allicin) จึงอาจมีสรรพคุณบรรเทาอาการและมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ปรับปรุงระดับคอเลสเตอรอล ทั้งยังอาจช่วยเสริมสุขภาพกระดูก และอาจช่วยต้านมะเร็งได้ด้วย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของกระเทียม

กระเทียมมีคุณค่าทางโภชนาการ และมีแคลอรี่น้อย โดยกระเทียม 1 กลีบ ประกอบด้วย

  • พลังงาน 4.5 แคลอรี่
  • โปรตีน 0.2 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม
  • แมงกานีส 2% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินบี 6 2% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินซี 1% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • ซีลีเนียม 1% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน

นอกจากนั้น ยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม ทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส 

5 ประโยชน์ของกระเทียม

กระเทียมมีสารอัลลิซิน ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัว ทั้งยังเป็นสารออกฤทธิ์หลักที่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

อาจช่วยป้องกันไข้หวัด

การรับประทานกระเทียมอาจช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้อาการไข้หวัดดีขึ้น จากการวิจัยชิ้นหนึ่งของ The Cochrane Database of Systematic Reviews พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระเทียมในการป้องกันหรือรักษาโรคไข้หวัด ในอาสาสมัคร 146 ราย พบว่า ผู้ที่ได้รับประทานอาหารเสริมกระเทียมวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ป่วยเป็นโรคไข้หวัดลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคอาหารเสริมจากกระเทียมอาจช่วยป้องกันไข้หวัด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้กระเทียมเพื่อป้องกันหวัด ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของกระเทียม

อาจช่วยปรับปรุงระดับคอเลสเตอรอล

กระเทียมอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในสารวาร Nutrition Reviews พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับผลของกระเทียมต่อไขมันในเลือด โดยไขมันในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคหัวใจ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 50 ปี และมีระดับคอเลสเตอรอล 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังรับประทานกระเทียมเป็นเวลา 2 เดือน มีระดับของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในเลือดลดลง 8% ซึ่งสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ 38%

นอกจากนั้น กระเทียมอาจมีประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอลรวมได้ประมาณ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำได้ประมาณ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงอาจกล่าวได้ว่า กระเทียมอาจมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลและเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูง

อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

สารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) ที่พบในกระเทียม อาจมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์เนื้องอกไกลโอบลาสโตมา (Glioblastomas) ซึ่งเป็นเนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ได้มาจากกระเทียม พบว่า สารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ได้มาจากกระเทียม 3 ชนิด คือ ไดอัลลิล ซัลไฟด์ (Diallyl Sulfide) ไดอัลลิล ไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulfide) ไดอัลลิล ไตรซัลไฟด์ (Diallyl Trisulfide) อาจมีส่วนช่วยป้องกันการก่อมะเร็ง นอกจากนั้น สารประกอบในกระเทียมยังทำให้เซลล์เนื้องอกไกลโอบลาสโตมามีวงจรชีวิตสั้นลงและอาจมีส่วนทำให้เซลล์ตายลงอย่างช้า ๆ

อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพกระดูก

ผู้หญิงที่รับประทานผักซึ่งอุดมไปด้วยสารอัลลิซินมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จากการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Dietary Supplements พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับผลของกระเทียมอัดเม็ดต่อไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนจำนวน 44 ราย พบว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วรับประทานกระเทียมรูปแบบอัดเม็ด 2 เม็ดทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน มีค่าเฉลี่ยของสารไซโตไคน์ลดลงประมาณ 47% อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนั้น งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Musculoskeletal Disorders พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับกระเทียมในอาหารและโรคข้อเข่าเสื่อมในฝาแฝดเพศหญิงช่วงอายุ 46-77 ปี พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และสมุไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหอม กระเทียม หอมแดง ซึ่งมีสารอัลลิซิน อาจช่วยป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ 

ข้อควรระวังสำหรับการบริโภคกระเทียม

แม้กระเทียมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้

  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร 
  • รับประทานยาชนิดอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งคุณหมอ ยาที่ซื้อได้เอง  ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ เช่น อโซไนอาซิด (Isoniazid)
  • มีอาการแพ้สารในกระเทียม แพ้ยาชนิดอื่น หรือแพ้สมุนไพรชนิดอื่น
  • มีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร สีผสมอาหาร สารกันบูด เนื้อสัตว์
  • มีอาการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะสุขภาพที่กำลังรักษาอยู่อื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของเลือด ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือการย่อยอาหาร ความดันโลหิตต่ำ

นอกจากนี้ หากบริโภคกระเทียมมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้  

  • มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว
  • ท้องร่วง
  • ปากไหม้
  • ระคายเคืองหลอดอาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เหงื่อออกมากกว่าปกติ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีเลือดออก
  • อาการโรคหอบหืดกำเริบ
  • ผิวหนังผิดปกติ เช่น ผิวหนังไหม้

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Garlic. https://www.drugs.com/npc/garlic.html. Accessed October 21, 2022.

Garlic. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-300/garlic. Accessed October 21, 2022.

The Truth About Your Garlic Supplement. https://cspinet.org/tip/truth-about-your-garlic-supplement. Accessed October 21, 2022.

Garlic. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-300/garlic. Accessed October 21, 2022.

Garlic. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=19&contentid=Garlic. Accessed October 21, 2022.

Garlic for the common cold. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22419312/. Accessed October 21, 2022.

The effect of garlic tablet on pro-inflammatory cytokines in postmenopausal osteoporotic women: a randomized controlled clinical trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23039014/. Accessed October 21, 2022.

Dietary garlic and hip osteoarthritis: evidence of a protective effect and putative mechanism of action. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21143861/. Accessed October 21, 2022.

Garlic compounds generate reactive oxygen species leading to activation of stress kinases and cysteine proteases for apoptosis in human glioblastoma T98G and U87MG cells. https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/cncr.22888. Accessed October 21, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/11/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของกระเทียม ดีต่อสุขภาพอย่างไร

กระเทียมรักษาสิว ช่วยแก้ไขปัญหาผิวหน้าได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา