backup og meta

คอลลาเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    คอลลาเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    คอลลาเจน คือ โปรตีนในกลุ่มโปรตีนเส้นใยที่เป็นส่วนประกอบหลักของโครงสร้างร่างกาย เช่น เซลล์ เนื้อเยื่อ เส้นผม ผิวหนัง กระดูก หากร่างกายมีคอลลาเจนเพียงพอ จะช่วยให้เซลล์ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ผิวหนัง ผม เล็บ กระดูกแข็งแรง เป็นต้น การศึกษาเกี่ยวกับ คอลลาเจน ประโยชน์ และวิธีกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่เหมาะสม เช่น การกินอาหารประเภทโปรตีน วิตามินซี ทองแดงและสังกะสี การงดสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน โดยเฉพาะหากมีภาวะสุขภาพ กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

    คอลลาเจน คืออะไร

    คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนในกลุ่มโปรตีนเส้นใย ที่เป็นส่วนประกอบหลักของโครงสร้างร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เนื้อเยื่อ เซลล์ เลือด ผิวหนัง เส้นผม กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการที่เกิดขึ้นในเซลล์ เช่น การซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การสื่อสารระหว่างเซลล์ การเคลื่อนที่ของเซลล์ 

    เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างและรักษาระดับคอลลาเจนในร่างกาย เรียกว่า ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) หรือเซลล์สร้างเส้นใย นอกจากจะสร้างคอลลาเจนแล้ว เซลล์นี้ยังสร้างอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนกลุ่มโปรตีนเส้นใยเช่นเดียวกับคอลลาเจน และมีส่วนสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับเนื้อเยื่อในปอด หลอดเลือด เอ็น ข้อต่อ ผิวหนัง เป็นต้น เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์ไฟโบรบลาสต์จะเริ่มทำงานได้ไม่ดีนัก และผลิตคอลลาเจนได้น้อยและช้าลง ยิ่งเมื่อรวมกับการสูญเสียอีลาสตินตามวัย ก็อาจทำให้ผิวหนังมีริ้วรอย เหี่ยวย่น แห้งกร้าน มวลกระดูกน้อย ข้อต่ออ่อนแอลง หลอดเลือดเปราะ เป็นต้น

    คอลลาเจน ประโยชน์ ที่ควรรู้

    เมื่อร่างกายมีคอลลาเจนเพียงพอ อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนี้

    อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ

    คอลลาเจนช่วยให้กระดูกอ่อนข้อต่อ หรือกระดูกอ่อนในข้อแข็งแรง โดยกระดูกอ่อนจะหุ้มอยู่บริเวณปลายกระดูก ทำหน้าที่ช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดี ไม่ฝืดตึง โดยปกติ คอลลาเจนจะลดลงตามวัย ทำให้ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงเกิดโรคเกี่ยวกับข้อต่อตามวัย เช่น โรคข้อเสื่อม แต่หากร่างกายมีคอลลาเจนเพียงพอ อาจช่วยบำรุงข้อต่อและกระดูกอ่อนข้อต่อให้แข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดข้อได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Orthopaedics เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารเสริมคอลลาเจนต่ออาการโรคข้ออักเสบ พบว่า การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนวันละ 10 กรัม เป็นประจำ ช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการปวด และความบกพร่องความสามารถของข้อเข่าได้ จึงอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบได้

    อาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก

    เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสูญเสียคอลลาเจนเร็วขึ้นและผลิตคอลลาเจนใหม่ได้น้อยลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกระดูกด้วย เนื่องจากกระดูกมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ การสูญเสียคอลลาเจนในกระดูกอาจทำให้มีมวลกระดูกต่ำ กระดูกเปราะหักง่าย และเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การได้รับคอลลาเจนอย่างเพียงพออาจช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ที่วิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคคอลลาเจนเปปไทด์กับความหนาแน่นของมวลกระดูกและสัญญาณโรคกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อยู่ในระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) ที่มักพบโรคกระดูกพรุน โดยทีมวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 131 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานคอลลาเจนเปปไทด์ทุกวัน วันละ 5 กรัม ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอกทุกวัน เมื่อผ่านไป 12 เดือน พบว่า กลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนเปปไทด์มีระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกมากขึ้น อีกทั้งคอลลาเจนเปปไทด์ยังอาจช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ ช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูก และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกด้วย

    อาจช่วยให้ผิวแข็งแรง

    คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลักของผิว เมื่อผิวมีคอลลาเจนเพียงพอ ก็จะแข็งแรง ยืดหยุ่น และชุ่มชื้น แต่เมื่อร่างกายขาดคอลลาเจน โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น อาจทำให้ผิวแห้ง เหี่ยวย่น และมีริ้วรอย อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน หรือคอลลาเจนเปปไทด์ (คอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยจนมีอนุภาคเล็ก ร่างกายจึงอาจดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น) เป็นประจำ อาจช่วยลดเลือนริ้วรอยและปัญหาผิวแห้ง จึงชะลอความแก่ชราของผิวได้ นอกจากนี้ คอลลาเจนยังอาจช่วยบำรุงเล็บให้แข็งแรง ไม่เปราะหักง่าย และช่วยบำรุงผมให้มีสุขภาพดี และยาวเร็วขึ้นได้ด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Drugs in Dermatology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเพื่อผลลัพธ์เกี่ยวกับผิวหนัง โดยการศึกษาและทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 11 ชิ้น พบว่า การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเป็นประจำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (ตั้งแต่ 4-24 สัปดาห์) อาจช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ช่วยชะลอการแก่ชราของผิว ทั้งยังอาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้น และความหนาแน่นของคอลลาเจนในชั้วผิวได้

    อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ

    คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบของหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากร่างกายขาดคอลลาเจน จึงอาจทำให้หลอดเลือดไม่ยืดหยุ่น เปราะและฉีกขาดง่าย และอาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว จึงควรให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนอย่างเพียงพอ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Atherosclerosis and Thrombosis เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ทำการศึกษาผลของการบริโภคคอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen Tripeptide) ต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ในคนที่สุขภาพแข็งแรง ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพแข็งแรงดีจำนวน 31 คนรับประทานคอลลาเจนไตรเปปไทด์วันละ 16 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการหลอดเลือดฝืดแข็งลดลง อีกทั้งยังมีระดับไขมันดี หรือคอเลสเตอรอลเอชแอลดี (HDL) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ซึ่งถือว่าดีต่อสุขภาพหลอดเลือด ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้ 

    อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมและสุขภาพหัวใจเพิ่มเติม ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจจึงควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน หรืออาหารเสริมอื่น ๆ

    การรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน เช่น เนื้อแดง เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ซุปกระดูก เจลาติน นมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ถั่วเหลือง เต้าหู้ สาหร่ายสไปรูลิน่า ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ ได้ดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ทราบถึงชนิดและปริมาณของคอลลาเจนที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา