backup og meta

ชะเอมเทศ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ชะเอมเทศ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ชะเอม เทศ เป็นสมุนไพรที่ให้รสหวานและมีกลิ่นหอม นิยมนำส่วนเหง้า เปลือกราก เนื้อในราก และดอกมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนม อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ยาสมุนไพร เป็นต้น โดยเฉพาะส่วนของรากที่มักนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยาขับเสมหะ น้ำยาบ้วนปาก ยาขับลม ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายและให้ความสดชื่น ทั้งนี้ ควรปริโภคชะเอมเทศในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia)

[embed-health-tool-bmi]

ชะเอม เทศ คืออะไร

ชะเอมเทศ (Liquorice หรือ Licorice) เป็นไม้ดอกที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปใต้ นิยมนำส่วนรากมาสกัดเป็นสารให้ความหวานและให้กลิ่นหอม เนื่องจากมีสารให้ความหวานที่ชื่อว่า กลีไซริซิน (Glycyrrhizin) และ 24-ไฮดรอกซีกลีไซริซิน (24-hydroxyglyrrhizin) ที่หวานเข้มข้นกว่าน้ำตาลทราย มักใช้เป็นส่วนผสมในขนมและลูกอมเพื่อแต่งรส และใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น ปัญหาทางเดินอาหาร อาการวัยหมดประจำเดือน อาการไอ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ชะเอม เทศ

ชะเอมเทศอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของชะเอมเทศ ดังนี้

อาจช่วยรักษาโรคในช่องปาก

ชะเอมเทศมีสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) หลายชนิด จึงอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และช่วยบรรเทาอาการของโรคในช่องปากได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oral Diseases เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของชะเอมเทศในการรักษาโรคทางทันตกรรมทั่วไป พบว่า ชะเอมเทศมีสารพฤกษเคมีอย่างกลีไซริซิน กลาบริดิน (Glabridin) ไลโคชาลโคน เอ (Licochalcone A) และลิโคริโซฟลาวาน เอ (Licorisoflavan A) ที่ออกฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระและลดการอักเสบ อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคในช่องปากและฟัน เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือกอักเสบ (Periodontitis) การติดเชื้อรา และแผลร้อนในที่เกิดซ้ำ ๆ ได้

อาจช่วยบรรเทากรดไหลย้อน

สารสกัดจากรากชะเอมเทศอาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ลดอาการบวม ลดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงลดอาการที่เกิดจากโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคโครห์น โดยไม่จำเป็นต้องลดกรดในกระเพาะอาหาร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Australian Traditional-Medicine Society เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารจากกรดไหลย้อนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีสารสกัดจากรากชะเอมเทศชนิดสกัดสารไกลซีไรซินออกแล้ว (Deglycyrrhizinated Licorice) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจำนวน 58 คนที่มีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและเป็นกรดไหลย้อนนานเกิน 6 เดือน จากการเก็บข้อมูลเป็นเวลา 2 ปี พบว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาการจากโรคกรดไหลย้อนมากกว่าการรับประทานยาลดกรดทั่วไป (Antacids) ชะเอมเทศจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน

อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

ชะเอมเทศมีไอโซลิควิริติเจนิน (Isoliquiritigenin) ที่มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ร่างกายผลิตเอสโตรเจนน้อยลง อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้ โดยชะเอมเทศอาจมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และการรับประทานยาคุมกำเนิด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal Of Pharmaceutical Research เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของชะเอมเทศและยาไอบูโพรเฟนต่ออาการปวดประจำเดือน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานยาไอบูโพรเฟน 400 มิลลิกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง และกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานสารสกัดจากชะเอมเทศ 5 ซีซี 2 ครั้ง/วัน ร่วมกับการรับประทานยาหลอก โดยใช้ยาติดต่อกัน 5 วันตั้งแต่มีประจำเดือนวันแรก เป็นเวลา 2 รอบเดือน พบว่า ยาที่กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มรับประทานสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ การรับประทานชะเอมเทศกับการบริโภคสารสกัดจากชะเอมเทศ อาจไม่ได้ให้ประโยชน์สุขภาพเทียบเท่ากัน จึงควรปรึกษาคุณหมอและเภสัชกรก่อนบริโภค

ข้อควรระวังในการบริโภคชะเอมเทศ

ข้อควรระวังในการบริโภคชะเอมเทศ อาจมีดังนี้

  • การบริโภคชะเอมเทศในปริมาณที่เหมาะสม โดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายแก่สุขภาพ แต่หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กินลูกอมชะเอมเทศทุกวันเป็นเวลาหลายปี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น เพิ่มระดับความดันโลหิต ลดระดับโพแทสเซียม เนื่องจากชะเอมเทศมีสารไกลซีไรซินที่ออกฤทธิ์ดังกล่าว ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจและโรคไต จึงควรจำกัดการบริโภคชะเอมเทศในระดับที่เหมาะสม
  • การบริโภคชะเอมเทศอาจทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชะเอมเทศร่วมกับยาฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาฮอร์โมนที่ใช้ได้
  • การบริโภคชะเอมเทศอาจลดระดับโพแทสเซียมในร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ เพราะอาจทำให้มีโพแทสเซียมในร่างกายต่ำเกินไปจนเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก และอาจหยุดหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรบริโภคชะเอมเทศแต่พอดี หรือไม่เกิน 250 กรัม/สัปดาห์ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและทำให้ทารกมีปัญหาพัฒนาการด้านสติปัญญาได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Licorice – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-881/licorice. Accessed September 30, 2022

Licorice and its potential beneficial effects in common oro-dental diseases. https://search.informit.org/doi/10.3316/INFORMIT.950298610899394. Accessed September 30, 2022

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1601-0825.2011.01842.x. Accessed September 30, 2022

Prevention of symptoms of gastric irritation (GERD) using two herbal formulas: An observational study. https://search.informit.org/doi/10.3316/INFORMIT.950298610899394. Accessed September 30, 2022

The effect of Glycyrrhiza glabra L. on Primary Dysmenorrhea compared with Ibuprofen: A Randomized, Triple-Blind Controlled Trial. https://brieflands.com/articles/ijpr-124461.html. Accessed September 30, 2022

Licorice Root. https://www.nccih.nih.gov/health/licorice-root. Accessed September 30, 2022

ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/50/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87/. Accessed September 30, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สมุนไพร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

สมุนไพรไทย สรรพคุณ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา