backup og meta

นมวัว ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

นมวัว ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

นมวัว เป็นแหล่งพลังงานที่ดีต่อร่างกาย เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนที่ดี ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินดี วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 ฟอสฟอรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียมซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและความหนาแน่นของกระดูกและฟัน ช่วยลดความดันโลหิต และบำรุงสมองได้

คุณค่าทางโภชนาการของ นมวัว

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า นมวัว 1 แก้ว ปริมาณ 249 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 219 กรัม ให้พลังงาน 152  กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โปรตีน 8.14 กรัม
  • ไขมัน 7.97 กรัม
  • โพแทสเซียม 374 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 306 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 251 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 6 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 29.6 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ นมวัวยังประกอบไปด้วยวิตามินและสารประกอบอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 โคลีน กรดไขมัน กรดอะมิโน

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ นมวัว

นมวัวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของนมวัวในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

นมวัว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูก เช่น แคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูก ลดการสูญเสียมวลกระดูก มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546  ศึกษาเรื่อง บทบาทของแคลเซียมในอาหารต่อสุขภาพกระดูก พบว่า แคลเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญในการสะสมแร่ธาตุในกระดูก และเป็นส่วนประกอบ 99% ของกระดูก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างของกระดูกได้ด้วย มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยสูงอายุ รวมถึงในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์วารสาร Calcified Tissue International เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเรื่อง ผลของการบริโภคผลิตภัณฑ์นมต่อสุขภาพ พบว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์นม 3 มื้อต่อวัน มีความปลอดภัยและอาจเป็นประโยชน์ในการรักษากระดูก อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากนมยังไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะหากเป็นชนิดที่มีไขมันต่ำ

มีส่วนช่วยในการลดระดับความดันโลหิตได้

ผลิตภัณฑ์จากนมวัวมีโพแทสเซียมซึ่งอาจช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต เนื่องจากโพแทสเซียมมีฤทธิ์ขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความตึงเครียดของเยื่อบุผนังหลอดเลือด จนอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ ในวารสาร Journal of the American Heart Association เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ศึกษาเรื่อง อิทธิพลของไขมันอิ่มตัวและกรดลิโนเลนิก (Linolenic acid) ในผลิตภัณฑ์จากนมกับระดับความดันโลหิต โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,797 คน พบว่า กลุ่มที่รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว 2 มื้อ/วัน มีอัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงน้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์นมชนิดไขมันต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นมวัว

อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง

นมวัว มีฤทธิ์ช่วยรักษาระดับสารกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยต้านความเสื่อมของระบบประสาท  โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Clinical Nutrition เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ของการบริโภคนมกับความเข้มข้นของกลูตาไธโอนในสมองของผู้สูงอายุ โดยมีกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 60 คน อายุ 60-85 ปี และวัดค่ากลูตาไธโอนในสมองของผู้เข้าร่วมวิจัยหลังจากให้บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัว เป็นเวลา 7 วัน พบว่า ความเข้มข้นของกลูตาไธโอนในสมองมีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารจากนมและแคลเซียมอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้สูงอายุที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ต นม ชีส มีระดับความเข้มข้นของกลูตาไธโอนมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภค ซึ่งอาจเป็นผลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีส่วนประกอบของสารอาหารต่าง ๆ ช่น แคลเซียม วิตามินดี และไรโบฟลาวินหรือวิตามินบี 2

ข้อควรระวังเมื่อบริโภคนมวัว

แม้การรับประทานนมวัวจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) อาจมีปัญหาในการย่อยน้ำตาลในนม หากรับประทานนมวัวอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานนมวัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • ผลิตภัณฑ์จากนมวัวอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ เนื่องจากนมวัวจะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ผู้ที่ปัญหาสิวควรลดการบริโภคนมวัว
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีไม่ควรรับประทานนมวัว เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้เด็กไม่สบาย เช่น ท้องเสีย อาเจียนได้
  • นมวัวมีไขมันอิ่มตัวสูง จึงควรรับประทานอย่างพอดี หากรับประทานนมวัวมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cow Milk. https://www.sciencedirect.com/topics/food-science/cow-milk. Accessed April 29, 2022

The role of dietary calcium in bone health. https://www.cambridge.org/core/journals/proceedings-of-the-nutrition-society/article/role-of-dietary-calcium-in-bone-health/5C6665E8AB0DCCE494003A99CB26A78C#article.  Accessed April 29, 2022

Dairy intake is associated with brain glutathione concentration in older adults. https://academic.oup.com/ajcn/article/101/2/287/4494384.  Accessed April 29, 2022

The influence of dietary and nondietary calcium supplementation on blood pressure: an updated metaanalysis of randomized controlled trialshttps://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10075392/. Accessed April 29, 2022

Calcium. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Calcium-HealthProfessional/. Accessed April 29, 2022

Dairy foods and nutrients in relation to risk of ovarian cancer and major histological subtypes. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3495088/. Accessed April 29, 2022

Cow, Soy or Almond: Which ‘Milk’ Is Best for You? https://www.webmd.com/diet/news/20180201/cow-soy-or-almond-which-milk-is-best-for-you. Accessed April 29, 2022

Milk, whole, 3.25% milkfat, with added vitamin D. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/746782/nutrients. Accessed April 29, 2022

Influence of saturated fat and linolenic acid on the association between intake of dairy products and blood pressure. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16801477/. Accessed April 29, 2022

Effects of Dairy Products Consumption on Health: Benefits and Beliefs—A Commentary from the Belgian Bone Club and the European Society for Clinical and Economic Aspects of Osteoporosis, Osteoarthritis and Musculoskeletal Diseases. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4703621/. Accessed April 29, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยเผย ดื่มนมวันละ 2 แก้ว อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

นมวัวกับนมจากพืช นมแบบไหนที่เหมาะจะเป็นตัวเลือกของคุณ มาดูกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา