backup og meta

น้ำขิงช่วยอะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

น้ำขิงช่วยอะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

น้ำขิงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยดับกระหายและยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย หลายคนอาจมีคำถามว่า น้ำขิงช่วยอะไร น้ำขิงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ และมีรสชาติเผ็ดร้อนจึงกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี อีกทั้งยังมีสรรพคุณในการบรรเทาปวด อาจช่วยลดอาการแพ้ท้อง บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย และอาจใช้เป็นการรักษาเสริมสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมได้ นอกจากนี้ ขิงยังเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยในการใช้งานสูงและมีผลข้างเคียงน้อยด้วย

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำขิง

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ขิง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 2 กรัม และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น น้ำตาล แป้ง อีก 1.7 กรัม)
  • โปรตีน 1.82 กรัม
  • ไขมัน 0.75 กรัม
  • โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 43 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 16 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 13 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ขิงยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 3 วิตามินบี 6 สังกะสี แมงกานีส ทองแดง ที่อาจให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ทั้งยังมีสารจินเจอรอล (Gingerol) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลักในขิงสดที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด สารนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และบรรเทาปวดได้ดี

น้ำขิงช่วยอะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

ขิงซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำขิงมีสารอาหารและสารพฤกษเคมีหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพของขิงหรือน้ำขิง ดังนี้

อาจช่วยลดอาการแพ้ท้อง

ขิงมีสารประกอบ เช่น สารจินเจอรอล สารโชกาออล (Shogaol) ที่ช่วยรักษาสมดุลของกระบวนการย่อยอาหารด้วยการเร่งให้ย่อยอาหารได้ให้เร็วขึ้น จึงมีส่วนช่วยในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้หญิงตั้งครรภ์ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Obstetrics & Gynecology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ศึกษาเรื่อง การใช้ขิงเพื่ออาการคลื่นไส้อาเจียนระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 70 คน ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 17 สัปดาห์และมีอาการแพ้ท้อง พบว่า กลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานขิงปริมาณ 1 กรัม/วัน มีอาการแพ้ท้องน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจสรุปได้ว่า ขิงมีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของการแพ้ท้องที่มักเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ

อาจช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเรื้อรังได้

สารให้ความเผ็ดร้อนในขิงอย่างสารจินเจอรอลอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับอาหารออกจากกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร จึงอาจช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินทางอาหาร และบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเรื้อรังได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร World Journal of Gastroenterology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับ ฤทธิ์ของขิงต่อการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารและฤทธิ์ต่ออาการของโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนโดยไม่ทราบสาเหตุ (Functional dyspepsia) โดยการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างอดอาหาร 8 ชั่วโมง ก่อนจะให้รับประทานซุปที่มีสารอาหารต่ำ หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงให้กลุ่มแรกรับประทานผงรากขิงปริมาณ 1.2 กรัม ส่วนกลุ่มที่ 2 รับประทานยาหลอก  ผลปรากฎว่า กลุ่มที่รับประทานขิงมีความเร็วในการบีบอาหารออกจากกระเพาะอาหารรวดเร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยกลุ่มที่รับประทานขิงใช้เวลา 12 นาทีครึ่ง ในขณะที่ผู้ที่ได้รับยาหลอกใช้เวลา 16.1 นาที อีกทั้งกระเพาะอาหารของกลุ่มที่รับประทานขิงยังบีบตัวได้ถี่กว่า จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานขิงหรือน้ำขิงมีส่วนช่วยกระตุ้นการบีบอาหารออกจากกระเพาะอาหารและเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหารในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนที่มีอาการอาหารไม่ย่อยได้

อาจช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

ขิงมีสารจินเจอรอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยรักษาโรคที่เกิดจากข้อต่ออักเสบ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) ซึ่งเป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูก ทำให้มีภาวะอักเสบ และส่งผลต่อการทำงานของกระดูกข้อต่อ ซึ่งมักส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Orthopaedics and Trauma ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับ โภชนเภสัช (Nutraceuticals) หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในประเทศอินเดีย พบว่า การรับประทานขิงสามารถลดปริมาณสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ เช่น ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive Protein) ไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รับประทานยาหลอก จึงอาจสรุปได้ว่า ขิงสามารถลดภาวะข้อเข่าอักเสบของผู้ป่วยได้ แต่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำขิง

ข้อควรระวังในการบริโภคขิงและน้ำขิง อาจมีดังนี้

  • ขิงมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดจึงอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจึงควรงดการดื่มน้ำขิงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกมากทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้
  • ควรดื่มน้ำขิงในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะการดื่มน้ำขิงในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและอาการเสียดท้องได้
  • ขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน จึงอาจส่งผลให้เกิดแผลร้อนในภายในช่องปากได้ ควรดื่มน้ำขิงในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำขิงเมื่อเป็นแผลในปาก
  • สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำขิงในช่วงใกล้คลอด เพราะขิงอาจกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกมากในระหว่างคลอดและหลังคลอด อีกทั้งน้ำขิงยังอาจไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ที่มีประวัติแท้งบุตรหรือมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดด้วย ก่อนรับประทานขิง ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ginger root, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169231/nutrients. Accessed July 1, 2022

Health Benefits of Ginger. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-health-benefits-ginger. Accessed July 1, 2022

Health Benefits of Ginger Water. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-ginger-water#1. Accessed July 1, 2022

Ginger for nausea and vomiting in pregnancy: randomized, double-masked, placebo-controlled trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11275030/.  Accessed July 1, 2022

Effect of ginger on gastric motility and symptoms of functional dyspepsia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3016669/. Accessed July 1, 2022

Current status of top 10 nutraceuticals used for Knee Osteoarthritis in India. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6224802/. Accessed July 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สรรพคุณขิง มีอะไรบ้าง และข้อควรระวังการบริโภค

ขิง สรรพคุณ และข้อควรระวังในการรับประทาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา