backup og meta

น้ำมันกัญชา สรรพคุณ และข้อควรระวังการใช้

น้ำมันกัญชา สรรพคุณ และข้อควรระวังการใช้

น้ำมันกัญชา คือ สารสกัดเข้มข้นจากต้นกัญชาที่มีความเข้มข้นของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ในระดับสูง ซึ่งถูกจัดเป็นสารเสพติด และยังมีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol;CBD) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ป้องกันสิว และลดความเครียดได้ น้ำมันกัญชาจึงมีสรรพคุณมากมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้อนุญาตให้นำน้ำมันกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ โดยอาจนำมาเป็นส่วนประกอบของยา รวมถึงอาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง ที่จำเป็นต้องผ่านการเจือจางความเข้มข้นของสาร THC ให้เหลือเพียง 0.2% และควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันกัญชา

น้ำมันกัญชา 1 ช้อนโต๊ะ อาจให้พลังงาน 125 แคลอรี่ และกรดไขมัน 14 กรัม ที่ประกอบด้วย

  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 11 กรัม ได้แก่ กรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic Acid) กรดไขมันกรดแกมมาไลโนเลนิก (Gamma-Linolenic Acid หรือ GLA) และกรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid)
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 2 กรัม
  • กรดไขมันอิ่มตัว 1 กรัม

นอกจากนี้ น้ำมันกัญชายังมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล สารแคนนาบิไดออล รวมถึงวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินบี อาจีนีน (Arginine) ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

น้ำมันกัญชา มีสรรพคุณอะไรบ้าง

น้ำมันกัญชามีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุน สรรพคุณของน้ำมันกัญชาในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยบรรเทาอาการปวด

น้ำมันกัญชา มีสารแคนนาบิไดออล ที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ระบบประสาทส่วนกลาง ปวดข้อ ปวดประจำเดือน

จากการศึกษาในวารสาร American of Physicians ปีพ.ศ. 2565 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้การใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่ออาการปวดเรื้อรัง โดยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามระบบประสาทที่ใช้สารสกัดจากกัญชา อาจมีอาการปวดเรื้อรังลดลงในระยะสั้น แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ในระยะยาวและผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา

นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งในวารสาร Journal of  Pain Research ปีพ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้แคนนาบิไดออลต่อแคนนาบิไดออลต่อการรักษาอาการปวดเรื้อรัง โดยสอบถามผู้เข้าร่วมทั้งหมด 253 คน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกและความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์กัญชาที่ใช้ในการรักษา

  • อาจช่วยป้องกันสิว

สารแคนนาบิไดออลในน้ำมันกัญชา มีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดสิว รักษาสิว เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว และอาจช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย

จากการศึกษาในวารสาร Journal of Clinical Investigation ปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับแคนนาบิไดออลที่ช่วยลดการสร้างน้ำมันส่วนเกินและช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ซีโบไซต์ (Sebocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ในต่อมไขมันที่หน้าที่ผลิตน้ำมันส่วนเกิน พบว่า แคนนาบิไดออลอาจช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ไขมันในซีโบไซต์ อีกทั้งยังอาจช่วยยับยั้งกระบวนการอักเสบ (NF-κB) ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดสิวหรือช่วยรักษาสิวได้

  • อาจช่วยรักษาโรคมะเร็ง

น้ำมันกัญชา มีสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง และมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

จากการศึกษาในวารสาร Bosnian Journal of Basic Medical Sciences ปี พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการใช้แคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง พบว่า สารแคนนาบินอยด์ อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอก และชะลอการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีการใช้น้ำมันกัญชารักษาทางการแพทย์มากขึ้น แต่ยังคงจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  • อาจช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล

น้ำมันกัญชา มีสารแคนนาบิไดออล ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้ แต่ขณะเดียวกันหากใช้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดอาการจิตเวช ซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน

จากการศึกษาในวารสาร The Permanente Journal ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับ แคนนาบิไดออลต่อความวิตกกังวลและนอนหลับ โดยให้กลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ 72 คน ที่มีอาการวิตกกังวล 47 คน และผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ 25 คนได้รับการรักษาด้วยแคนนาบิไดออล จากการประเมินผลพบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีอาการดีขึ้นในเดือนแรกและเดือนถัดไปตามลำดับ

ข้อควรระวังเกี่ยวกับสรรพคุณของน้ำมันกัญชา

น้ำมันกัญชา อาจมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ หากใช้ในทางการแพทย์และใช้ในขนาดที่เหมาะสม โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ไม่ควรใช้น้ำมันกัญชาเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน หรือควรใช้ตามที่คุณหมอกำหนด อีกทั้งควรสังเกตอาการของตนเอง หากพบว่ามีอาการท้องร่วง ปวดท้อง ประสาทหลอน กระสับกระส่าย หัวใจเต้นช้า วิงเวียนศีรษะ และระคายเคืองผิวหนัง ควรหยุดใช้ทันที

น้ำมันกัญชามีสรรพคุณที่อาจช่วยลดความดันโลหิต จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่วางแผนผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ มีอาการช็อก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรหยุดการใช้น้ำมันกัญชาก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

น้ำมันกัญชาอาจเหมาะสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ผู้ป่วยโรคจิตเวช ผู้ที่ติดสารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสตรีตั้งครรภ์ เพราะน้ำมันกัญชามีสารประกอบที่จัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรง เช่น การแท้งบุตร ทารกน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจทำงานผิดปกติ และระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Hemp Seed Oil. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-hemp-seed-oil.Accessed July 15, 2022.

Hemp Oil: Is It Good for You?. https://www.webmd.com/diet/hemp-oil-good-for-you.Accessed July 15, 2022.

Hemp – Uses, Side Effects, And More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1605/hemp.Accessed July 15, 2022.

Cannabis-Based Products for Chronic Pain. https://www.acpjournals.org/doi/10.7326/M21-4520.Accessed July 15, 2022.

Cannabidiol as a Treatment for Chronic Pain: A Survey of Patients’ Perspectives and Attitudes. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8107012/.Accessed July 15, 2022.

Cannabidiol exerts sebostatic and antiinflammatory effects on human sebocytes.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4151231/.Accessed July 15, 2022.

Cannabinoids in cancer treatment: Therapeutic potential and legislation.  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6387667/.Accessed July 15, 2022.

Cannabidiol in Anxiety and Sleep: A Large Case Series.  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6326553/.Accessed July 15, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงคนท้องอ่อนๆ ที่ดีต่อสุขภาพแม่และลูกน้อย

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา