backup og meta

ประโยชน์ของคอลลาเจน และข้อควรระวังในการบริโภค

ประโยชน์ของคอลลาเจน และข้อควรระวังในการบริโภค

คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อ ผม เล็บ กระดูก ผิวหนัง แข็งแรงและสุขภาพดี ทั้งนี้ ร่างกายมนุษย์มักผลิตคอลลาเจนได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างของผม เล็บ กระดูก และผิวหนังเสื่อมโทรม เปราะบาง แตกหักง่าย โดยร่างกายสามารถเสริมสร้างคอลลาเจนได้ด้วยการบริโภคอาหารที่อุดมด้วยคอลลาเจน เช่น ปลา ไก่ ไข่ขาว ถั่วเหลือง มะเขือเทศ นอกจากนั้น ปัจจุบันมีการพัฒนาคอลลาเจนให้อยู่ในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งช่วยทดแทนจำนวนคอลลาเจนที่ไม่เพียงพอในร่างกายได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนเกี่ยวกับ ประโยชน์ของคอลลาเจน เช่น อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ลดการสูญเสียมวลกระดูก ช่วยบำรุงผิวหนังให้แข็งแรงและสุขภาพดีอ่อนกว่าวัย

[embed-health-tool-bmr]

คอลลาเจน คืออะไร

คอลลาเจน เป็นโปรตีนเส้นใยที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูงกว่าโปรตีนชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย โดยเป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น เล็บ ขน ทำหน้าที่ช่วยยึดเกาะเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ

โดยมีไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) หรือเซลล์สร้างเส้นใย ทำหน้าที่สร้างและรักษาระดับคอลลาเจนในร่างกาย ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของไฟโบรบลาสต์จะเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ผลิตคอลลาเจนได้ในปริมาณน้อยลง ร่างกายจึงเผชิญกับความเสื่อมโทรมและถดถอยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กระดูกเปราะ ข้อต่อไม่แข็งแรง ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมแห้งแตกปลาย เล็บหักง่าย เส้นเอ็นยึด

ทั้งนี้ คอลลาเจนมีหน้าที่หลายประการ ดังนี้

  • ช่วยซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่สึกหรอ
  • ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก เล็บ กล้ามเนื้อ ข้อต่อ
  • รักษาความยืดหยุ่น เต่งตึง เรียบเนียนให้ผิวหนัง
  • ช่วยเพิ่มการยึดเกาะระหว่างเส้นผมและหนังศีรษะ
  • ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้เส้นเลือด และผนังหลอดเลือด

นอกเหนือจากการบริโภคอาหารที่ประกอบไปด้วยคอลลาเจน เช่น ผัก ปลา ไข่ ปัจจุบัน มีการคิดค้นพัฒนาคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม เช่น ผง แคปซูล โดยผลิตจากกระดูก ไขมันสัตว์ หรือหนังสัตว์ เช่น กระดูกวัว หนังปลา

ประโยชน์ของคอลลาเจน ต่อสุขภาพ

เมื่ออายุมากขึ้นและร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง การบริโภคคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันหลายชิ้นระบุว่าการบริโภคคอลลาเจนอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้

1.อาจช่วยชะลอความเสื่อม เหี่ยวย่นของผิวหนัง

คอลลาเจน เป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนัง หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของส่วนประกอบทั้งหมด โดยมีหน้าที่รักษาความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทั้งนี้ การขาดแคลนคอลลาเจน อาจทำให้ผิวหนังเยี่ยวย่น และเต็มไปด้วยริ้วรอยได้ และการบริโภคคอลลาเจน อาจมีคุณสมบัติยับยั้งหรือชะลอการเกิดอาการดังกล่าว

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการบริโภคคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพผิวหนัง ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Drugs in Dermatology ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ศึกษาบทความเกี่ยวกับประโยชน์ของคอลลาเจนต่อผิวหนัง สรุปว่า การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเป็นประจำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (ตั้งแต่ 4-24 สัปดาห์) อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยเพิ่มความหนาแน่นของคอลลาเจนในชั้นผิว ซึ่งช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง ยืดหยุ่น และชุ่มชื้น รวมทั้งยังช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น

2.อาจช่วยบำรุงกระดูกข้อต่อและบรรเทาอาการโรคข้อเสื่อม

คอลลาเจนช่วยให้กระดูกอ่อนของข้อต่อแข็งแรง เคลื่อนไหวได้ดี ไม่ฝืดตึง ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น คอลลาเจนในร่างกายที่ลดลงมักส่งผลต่อสุขภาพข้อต่อ ทำให้เป็นโรคข้อเสื่อม การบริโภคคอลลาเจน อาจช่วยกระตุ้นให้คอลลาเจนบริเวณกระดูกอ่อนของข้อต่อเพิ่มขึ้น และอาจช่วยบรรเทาอาการรุนแรงของโรคข้อเสื่อมให้ทุเลาลงได้

การศึกษาชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของคอลลาเจนไฮโดรไลเซต (Collagen Hydrolysate ในการรักษาโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออื่น ๆ ตีพิมพ์ในวารสาร Current Medical Research and Opinion ปี พ.ศ. 2549 นักวิจัยศึกษางานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น และพบข้อสรุปว่า การรับประทานคอลลาเจนไฮโดรไลเซต หรือคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมนั้นปลอดภัยต่อร่างกาย และสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในเพศหญิงและเพศชายที่ป่วยเป็นโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

3.อาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก

กระดูกมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ การสูญเสียคอลลาเจนจึงอาจทำให้มวลกระดูกลดลงนำไปสู่ภาวะกระดูกเปราะ แตกหักง่าย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้ การบริโภคคอลลาเจนทดแทน อาจช่วยเสริมมวลกระดูกทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนน้อยลง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคคอลลาเจนเปปไทด์ กับความหนาแน่นของมวลกระดูกและสัญญาณโรคกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 131 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานคอลลาเจนเปปไทด์ทุกวัน วันละ 5 กรัม ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกทุกวัน เป็นเวลา 12 เดือน เท่า ๆ กัน ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนเปปไทด์ มีความหนาแน่นของมวลกระดูกในบริเวณเอวและกระดูกต้นขามากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก สรุปได้ว่า อาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกบริเวณเอวและกระดูกต้นขาในหญิงวัยหมดประจำเดือน และสัญญาณการเป็นโรคกระดูกลดลง

4.อาจช่วยฟื้นฟูภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) เป็นการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่พบบ่อยในผู้สูงวัย การบริโภคคอลลาเจน อาจช่วยฟื้นฟูภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยได้ เนื่องจากคอลลาเจนมีคุณสมบัติในการช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของอาหารเสริมคอลลาเจนเปปไทด์ และการออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Training) เพื่อฟื้นฟูองค์ประกอบของร่างกายและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในชายสูงวัยที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นชายสูงวัยจำนวน 53 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ออกกำลังกายแบบแรงต้านสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับรับประทานคอลลาเจนเปปไทด์ 15 กรัมต่อวัน ส่วนอีกกลุ่มให้ออกกำลังกายแบบแรงต้านสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาหลอก เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์เท่า ๆ กัน หลังสิ้นสุดการทดลอง

นักวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเปปไทด์ มีความแข็งแรงของมวลกล้ามเนื้อมากกว่ากลุ่มที่บริโภคยาหลอก และมีมวลร่างกายไร้ไขมันที่เพิ่มขึ้นด้วย

ข้อควรระวังในการบริโภค คอลลาเจน

การบริโภคคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม มีข้อระวังดังต่อไปนี้

  • คอลลาเจน ควรรับประทานวันละไม่เกิน 10 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลาไม่เกิน 5 เดือน
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงในระยะให้นมบุตร สามารถรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคอลลาเจนตามธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมเพราะปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสนับสนุนว่าคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงในระยะให้นมบุตร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oral Collagen Supplementation: A Systematic Review of Dermatological Applications. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30681787/. Accessed June 10, 2022

Collagen hydrolysate for the treatment of osteoarthritis and other joint disorders: a review of the literature. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17076983/. Accessed June 10, 2022

Specific Collagen Peptides Improve Bone Mineral Density and Bone Markers in Postmenopausal Women—A Randomized Controlled Study. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5793325/. Accessed June 10, 2022

Collagen Peptides – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1606/collagen-peptides. Accessed June 10, 2022

Collagen peptide supplementation in combination with resistance training improves body composition and increases muscle strength in elderly sarcopenic men: a randomised controlled trial. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4594048/. Accessed June 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เพิ่มคอลลาเจน ด้วยวิธีธรรมชาติแบบง่าย ๆ ให้ผิวสวยเด้ง

คอลลาเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา