backup og meta

พริกหวาน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

พริกหวาน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

พริกหวาน หรือ พริกหยวก (Bell Peppers) จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้ ที่มีสีเขียว เหลือง แดง และส้ม นิยมนำมาปรุงอาหารและรับประทานสด พริกหวานมีรสชาติหวานอ่อน ๆ และมีความเผ็ดน้อยกว่าพริกอื่น ๆ นอกจากนี้ พริกหวานยังมีสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี โพแทสเซียม ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารและอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของพริกหวาน

พริกหวานหนึ่งถ้วย อาจให้พลังงาน 30 แคลอรี่ และมีคาร์โบไฮเดรต 7 กรัม ที่ประกอบด้วยน้ำตาล 3.5 กรัม ไฟเบอร์ 2.5 กรัม และสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

นอกจากนี้ พริกหวานยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีน (Lutein) แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) แคปแซนทีน (Capsanthin) ไวโอลาแซนทิน (Violaxanthin) เควอซิทิน (Quercetin) และลูทอีโอลิน (Luteolin) ที่อาจช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง

ประโยชน์ของพริกหวานต่อสุขภาพ

พริกหวานมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของพริกหวานในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

พริกหวานมีไฟเบอร์สูง ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณของกากอาหาร และช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูก

จากการศึกษาหนึ่งในวารสาร World Journal of Gastroenterology เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของใยอาหารต่ออาการท้องผูก โดยค้นหาบทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 1,322 บทความ จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์ Ovid MEDLINE, Cochrane Library และ PubMed พบว่า การบริโภคใยอาหารอาจช่วยเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายในผู้ที่มีอาการท้องผูกได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันประสิทธิภาพที่แน่ชัดของการบริโภคใยอาหารเพื่อช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอของการขับถ่าย รักษาอาการท้องผูก หรือลดความจำเป็นในการใช้ยาระบาย

  • อาจดีต่อสุขภาพตา

พริกหวานมีสารลูทีน และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพืชผักผลไม้หลายชนิด เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ และพบได้ในบริเวณดวงตา มีบทบาทสำคัญช่วยลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ของจอประสาทตา ที่อาจนำไปสู่การเกิดต้อกระจกและการติดเชื้อ

จากการศึกษาในวารสาร The Third International Tropical Agriculture Conference ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับพริกชี้ฟ้าและพริกอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งของสารซีแซนทีน พบว่า ซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบได้ในผักและผลไม้ตามธรรมชาติ รวมถึงพริกสีส้มและสีเหลือง อาจช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากแสงสีฟ้าที่มีสาเหตุมาจากสารอนุมูลอิสระทำให้เซลล์รับแสงและเม็ดสีในดวงตาเสื่อมสภาพ และอาจนำไปสู่ตาบอด

  • อาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง

พริกหวานอุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ นำไปสู่การอักเสบ ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ดังนั้น การรับประทานพริกหวานจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังได้

การศึกษาในวารสาร Natural Products in Health Promotion and Disease Prevention ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับแคโรทีนอยด์ของพริก พบว่า พริกหวานมีแคโรทีนอยด์ที่พบได้ในพืชสีแดง สีเหลือง และสีส้ม อาจช่วยต้านการอักเสบจากอนุมูลอิสระ ที่สร้างความเสียหายต่อผนังหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) ที่เป็นเอนไซม์ช่วยย่อยสลาย จึงทำให้กระบวนการย่อยคาร์โบไฮเดรตช้าลง และส่งผลให้การดูดซึมน้ำตาลกลูโคสลดลง จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ที่นำไปสู่โรคเบาหวานได้

  • อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

การรับประทานพริกหวานอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากพริกหวานมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีน แคโรทีนอยด์ สารแคปแซนทีน ไวโอลาแซนทิน เควอซิทิน และลูทอีโอลิน รวมถึงวิตามินซีในปริมาณสูง

การศึกษาในวารสาร Pakistan Journal of Food Sciences เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระของพริกหวาน พบว่า พริกหวานมีวิตามินซีสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพเนื่องจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง

ข้อควรระวังในการบริโภคพริกหวาน

ปกติแล้วการรับประทานพริกหวานแบบสดหรือนำมาปรุงอาหาร อาจดีต่อสุขภาพร่างกาย แต่ก่อนรับประทานพริกหวาน ควรล้างทำความสะอาดให้ดีด้วยการใช้น้ำยาล้างผัก หรือแช่ในน้ำเปล่าผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดแบบเปิดไหลผ่าน เพื่อช่วยกำจัดสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่อาจตกค้างอยู่

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้ แพ้ผักบางชนิด หรือแพ้พริกหยวก อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานพริกหวาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้นตามลำตัว ใบหน้า หรือรอบปาก ลิ้นบวม และอาจมีปัญหาในทางเดินระบบหายใจได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Bell Peppers.  https://www.webmd.com/diet/health-benefits-bell-peppers.Accessed June 21, 2022

Effect of dietary fiber on constipation: A meta analysis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3544045/.Accessed June 21, 2022

Orange Capsicums and Chillies as a Potential Source of Dietary Zeaxanthin, an Important Macular Carotenoid for Eye Health https://www.mdpi.com/2504-3900/36/1/161.Accessed June 21, 2022

Carotenoids of Capsicum Fruits: Pigment Profile and Health-Promoting Functional Attributes. https://www.mdpi.com/2076-3921/8/10/469/htm.Accessed June 21, 2022

Antioxidant Potential of Bell Pepper (Capsicum annum L.)-A Review. https://www.researchgate.net/publication/255969817_Antioxidant_Potential_of_Bell_Pepper_Capsicum_annum_L-A_Review.Accessed June 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/06/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้บำรุงหัวใจ ประโยชน์ดี ๆ ที่ช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

8 ผลไม้ลดเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา